SCG เปิดแผนบุก “เคมิคอลส์” 6 ปีขึ้นแถวหน้า R&D ระดับโลก

เอสซีจีขอ 6 ปีขึ้นแท่นเวิลด์คลาส อินโนเวชั่นในธุรกิจเคมิคอลส์ ทุ่มงบฯวิจัยและพัฒนามหาศาลต่อเนื่อง หวังเป็นที่ 1 ให้ได้ ชี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตอบโจทย์ ส่วนแผนลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม 5.4 พันล้านดอลลาร์ เริ่มผลิตได้แน่ต้นปี”63

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังกังวลกับภาวะเรือนกระจก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เอสซีจี ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยกำลังเดินหน้าลงทุน ด้วยแนวทางธุรกิจที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในงานแสดงนิทรรศการ K-2019 เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า จากการทุ่มเทคิดค้นนวัตกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (high value added) หรือ HVA จะทำให้มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นแถวหน้าระดับโลกในเรื่อง R&D ได้ในอีก 6 ปีข้างหน้า

ในปี 2561 เอสซีจีได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 4,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของธุรกิจเคมิคอลส์ถึง 2,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของทั้งหมด โดยมีบุคลากรด้าน R&D กว่า 690 คน และมีสิทธิบัตรต่าง ๆ ในมือกว่า 1,200 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีที่ผ่านมา

“เรามองว่าในอุตสาหกรรมนี้ระยะยาวคนที่ยืนอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ได้ต้องมีสักจุดหนึ่งที่เก่งกว่าคนอื่น เราจึงอยากเป็นเวิลด์คลาสในเรื่องอินโนเวชั่น ในแง่การตอบโจทย์ลูกค้าที่ดีที่สุด โซลูชั่นที่คิดออกมาต้องมีความพิเศษ ไม่ใช่ซื้อวัตถุดิบจากเราแล้วจบกันไป”

นายรุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เป็นแนวทางที่เอสซีจีเดินมาถูกทางแล้ว เห็นได้จากในงาน K-2019 ครั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับโลกกว่า 3,300 ราย ล้วนมุ่งพัฒนาในแนวทางดังกล่าว นำการรีไซเคิลกลับมาใช้ให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายปลายทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนอกจากจะเป็นโซลูชั่น นอกจากจะมาถูกที่ถูกเวลา ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าอีกด้วย

“ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ตั้งเป้าลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (Single Use) ให้เหลือร้อยละ 20 ภายในปี2563”

ทั้งนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นเรือธงสำคัญของเอสซีจี มีรายได้ในปี 2561 ที่ผ่านมา 221,538 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของเอสซีจี และมีผลกำไร 29,166 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65% ของผลกำไรทั้งหมดของเอสซีจีกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจีกล่าวด้วยว่า ธุรกิจในเวลานี้ต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเหมือน ๆกัน และไปแก้อะไรตรงนั้นไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการปรับตัวภายใน โดยเฉพาะเรื่องคนและเทคโนโลยี และต้องแข็งแรงกว่านี้เมื่อวิกฤตผ่านพ้น

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสซีจีได้เปิดบูทในงาน ภายใต้แนวคิด Passion for a Better World เป็นครั้งที่ 3 ที่เปิดตัวต่อตลาดโลกในลักษณะนี้ และได้รับการตอบรับจากคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่ที่แสดงความสนใจจำนวนมาก

ไฮไลต์ที่นำมาแสดง ได้แก่ เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยี SMXTM มีความแข็งแรง สามารถลดความหนาของชิ้นงาน ทำให้ลดการใช้เม็ดพลาสติก ในการผลิตถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ (IBC) ทนต่อการกัดกร่อน และแข็งแรง

SCG™ HDPE H112PC: เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนคอมพาวนด์สีดำ คิดค้นและผลิตด้วยเทคโนโลยีของเอสซีจีที่ได้รับการจดสิทธิบัตร มีคุณสมบัติที่เหนือกว่ามาตรฐานท่อ PE100 ทั่วไป ถูกพัฒนาเป็นท่อก๊าซ ท่อเหมือง และท่อที่รับแรงดันสูง

นอกจากนี้ยังมีบรรจุภัณฑ์ประเภทฟิลม์ที่มีความยืดหยุ่น ทนต่อแรงกระแทกและแรงเจาะทะลุได้ดีเป็นพิเศษ, ฝาน้ำอัดลม รุ่นน้ำหนักเบาและใช้วัสดุน้อยลงแต่ให้ความแข็งแรงมากขึ้น เป็นต้น

ในด้านการลงทุน นายธนวงษ์กล่าวว่า เอสซีจีพร้อมเดินหน้า M&A ในธุรกิจเคมิคอลส์ และอยู่ระหว่างมองหาพาร์ตเนอร์ หากมีความน่าสนใจก็พร้อมจะลงทุนด้วย


สำหรับการลงทุนครบวงจรในโครงการลองซันของเอสซีจี เคมิคอลส์ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมากอีกแห่งหนึ่ง และมีเงินลงทุนสูงถึง 5,400 ล้านดอลลาร์ กำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.5 ล้านตัน การก่อสร้างจะเสร็จสิ้น พร้อมเริ่มผลิตได้ในไตรมาสแรกของปี 2566