สินค้าสปีดโค้งท้ายไม่ขึ้น งบฯโฆษณา…หมดลุ้น

แก้ไม่ตกสำหรับอุตสาหกรรมโฆษณา โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเผชิญกับมรสุมเพียบ โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรังจากเศรษฐกิจโดยรวมไม่เติบโต ทำให้หลายสินค้าตัดใจหั่นงบฯการใช้โฆษณาผ่านสื่อลง พร้อมฉีดยาแรง ด้วยการเทงบฯอัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย

“ไตรลุจน์ นวะมะรัตน” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้ม

การใช้งบฯช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ก็ไม่ค่อยดี ดังนั้น คาดว่าสิ้นปีนี้การใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อจะเท่ากับปีที่ผ่านมา หรือมูลค่าประมาณ 117,104 ล้านบาท ประกอบด้วย ทีวี 64,680 ล้าน เคเบิล-ทีวีดาวเทียม 2,100 ล้าน วิทยุ 4,370 ล้าน หนังสือพิมพ์ 4,880 ล้าน แมกาซีน 975 ล้าน สื่อในโรงภาพยนตร์ (cinema) 7,881 ล้าน ป้ายบิลบอร์ด 6,868 ล้าน สื่อเคลื่อนที่ (transit) 6,195 ล้าน สื่อ ณ จุดขาย (in-store) 1,100 ล้าน และสื่อออนไลน์ 18,055 ล้าน

“ช่วงไตรมาส 2 การใช้งบฯโฆษณาทรงตัวเท่ากับปีก่อน แต่พอเข้าไตรมาส 3 ก็เริ่มเติบโตขึ้นเล็กน้อย ส่วนไตรมาสสุดท้าย เชื่อว่าการใช้งบฯของภาคส่วนต่าง ๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และส่งผลให้งบฯการใช้สื่อโฆษณาทั้งปีจะคงที่เท่ากับปีที่ผ่านมา”

ขณะที่บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) รายงานการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2562) ว่า มีมูลค่ารวม 77,520 ล้านบาท ลดลง 1.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบด้วย ทีวี 50,169 ล้าน ลดลง 0.91% เคเบิล-ทีวีดาวเทียม 1,673 ล้าน ลดลง 8.88% วิทยุ 3,430 ล้าน ลดลง 1.49% หนังสือพิมพ์ 3,540 ล้าน ลดลง 21.39% แมกาซีน 773 ล้าน ลดลง 21.12% สื่อในโรงภาพยนตร์ 6,113 ล้าน โต 11.94% ป้ายบิลบอร์ด 5,170 ล้าน โต 1.63% สื่อเคลื่อนที่ 4,783 ล้าน โต 8.14% สื่อ ณ จุดขาย 793 ล้าน โต 2.06% และสื่ออินเทอร์เน็ต 625 ล้าน (เก็บข้อมูลโฆษณาจาก 200 เว็บไซต์)

หากแยกย่อยการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ยังติด 1 ใน 5 ของบริษัทที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมีแนวโน้มการใช้งบฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ 2,334 ล้าน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 2,983 ล้าน พีแอนด์จี 1,975 ล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 1,758 ล้าน เนสท์เล่ (ไทย) 1,421 ล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 1,038 ล้าน ทีวี ไดเร็ค 1,383 ล้าน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 1,691 ล้าน และอันดับที่ 5 ลอรีอัลใช้งบฯ 1,356 ล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 985 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากแบ่งตามแบรนด์ พบว่า 5 อันดับแรกที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุด 9 เดือนแรกปีนี้ คือ ทีวี ไดเร็ค ใช้งบฯ 1,383 ล้าน สนุก ช้อปปิ้ง 872 ล้าน โค้ก 840 ล้าน โอ ช้อปปิ้ง 757 ล้าน และธนาคารออมสิน 742 ล้าน


แม้เริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่การเทงบฯของหลายสินค้าช่วงโค้งท้ายปีนี้คงเร่งไม่ทัน เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน เท่ากับว่างบฯโฆษณาโดยรวมปีนี้ก็คงหมดลุ้นเช่นกัน