“จีน” บูม ธุรกิจกลางคืน เร่งปลุกจับจ่าย-กระตุ้นเศรษฐกิจ

สภาพกดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจในทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทร ได้ทำให้เกิดกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนงัดออกมาใช้หวังกู้สถานการณ์

โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่โดดเด่นมาจากรัฐบาลจีน ที่พยายามกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศหลังยอดจับจ่ายช่วงหยุดยาววันชาติจีนตั้งแต่ 1-7 ต.ค.ที่ผ่านมา เติบโตน้อยเป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราการเติบโตเพียง 8.5% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นเม็ดเงิน 1.52 ล้านล้านหยวน ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 20 ปี ด้วยการอนุญาตให้บรรดาร้านค้า-ร้านอาหาร รวมถึงบริการขนส่งสาธารณะขยายเวลาทำการให้ดึกยิ่งขึ้น หวังสร้างเม็ดเงินจากเหล่านักท่องราตรี

สำนักข่าว “เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์” รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ส.ค. รัฐบาลกลางของจีนได้อนุมัตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่นจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว และเสิ่นเจิ้น ที่ประกาศให้เมืองของตนเป็นเมืองหลวงของการท่องเที่ยวยามราตรี ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การขยายเวลาเปิดทำการของหลายธุรกิจ และการจัดตั้งโซนพิเศษสำหรับรวมกิจการที่เปิดทำการถึงช่วงดึก หรือเปิด 24 ชั่วโมงไว้ในแหล่งเดียวเช่น เซี่ยงไฮ้ ที่ถูกโปรโมตให้ย่านเดอะบัล, ซินเทียนตี้, วัดจิ้งอัน และย่านช็อปปิ้งอื่น ๆ รวม 9 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวและช็อปปิ้งช่วงกลางคืน ส่วนปักกิ่งขยายเวลาให้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดินในวันศุกร์-เสาร์จากเที่ยงคืนเป็นตี 2 ในขณะที่เฉิงตู ขยายเวลาทำการของสวนสัตว์ แกลเลอรี่ศิลปะ ร้านเสริมสวยและธุรกิจอื่น ๆ ให้ยาวนานขึ้น

ทั้งนี้ เป็นความหวังที่จะเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยตามข้อมูลของบริษัทวิจัยมินเทลระบุว่า ผู้บริโภคอายุ 20-35 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับการเที่ยวกลางคืนสูงสุด อีกทั้งยังเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้านอีกด้วย ซึ่งเซ็กเมนต์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตถึง 1.6% ต่อปี จนมีมูลค่า 6.1 แสนล้านหยวนในปี 2566 สอดคล้องกับตัวเลขของบริษัทวิจัยไอมีเดียที่ระบุว่า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ การแสดงสดและบาร์ เป็นเป้าหมายหลักในการใช้เงินของผู้บริโภครุ่นใหม่บนจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมการท่องเที่ยว-ช็อปปิ้งยามค่ำคืน

ด้านผลลัพธ์นั้น “โจเซฟ ซอง” หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาและธุรกิจค้าปลีกของบริษัทบริหารอสังหาฯซีบีอาร์อี กล่าวว่า ประมาณ 10% ของธุรกิจแคเทอริ่งเริ่มปรับเวลาให้บริการแล้ว ส่วนห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต่างปล่อยเช่าพื้นที่กลางแจ้งให้กับร้านอาหารเพื่อเปิดให้บริการช่วงกลางคืน-ดึก สะท้อนถึงการตอบรับของภาคเอกชน

สอดคล้องกับความเห็นของ “เอริก ฮาน” ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ เซี่ยงไฮ้โซวเลย์ ว่าการใช้จ่ายกับอาหาร-เครื่องดื่ม รวมถึงความบันเทิงทั้งภาพยนตร์ และคาราโอเกะ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตในระดับท้องถิ่นได้

ขณะที่ตัวแทนจาก “นายูคิ” (Nayuki) ร้านชาในย่านผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ได้ใช้จังหวะที่รัฐบาลขยายเวลาทำการนี้ปรับโมเดลธุรกิจโดยเปิดเป็นบาร์ในช่วงกลางคืน พร้อมจัดแสดงเดี่ยวไมโครโฟน ช่วยให้สามารถดึงดูดวัยรุ่นได้จำนวนมาก

โดยแต่ละรายยอมจ่ายถึง 200 หยวน เพื่อชมเดี่ยวไมโครโฟน หลายโต๊ะมีลูกค้าหมุนเวียนถึง 6 รอบ และยอดใช้จ่ายต่อคนช่วงสุดสัปดาห์พุ่งขึ้นไปถึง 500 หยวน จนเฉพาะส่วนธุรกิจบาร์มีรายได้เฉลี่ยถึง 3 หมื่นหยวนต่อคืน

ทั้งนี้ยังต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจีนจะต่อยอดมาตรการนี้เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค และธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อย่างไร เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายรายตั้งขอสังเกตว่า ลำพังเม็ดเงินจากคนรุ่นใหม่อาจไม่พอ

สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค และปัจจุบันกลุ่มชาวจีนวัยกลางคนยังคงมีความกังวลเรื่องการใช้จ่ายอยู่