ศก.อังกฤษ ตกสะเก็ด ดันยอดดิสเคานต์สโตร์พุ่ง

คอลัมน์ Market Move

ไม่ว่าจะที่ไหน “ของถูก” เป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาขาช็อปทุกระดับกำลังซื้ออยู่เสมอ เรื่องนี้ทำให้ ดิสเคานต์สโตร์ซึ่งเน้นขายสินค้าราคาถูกกลายเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนระหว่างกระบวนการถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต

ล่าสุดบริษัทวิจัย โกลบอลดาต้า (GlobalData) เปิดเผยผลวิจัยพบว่ามูลค่าของตลาดค้าปลีกในเซ็กเมนต์ดิสเคานต์สโตร์ของอังกฤษ จะมีการเติบโตถึง 36.1% เป็น 3.25 หมื่นล้านปอนด์ ภายในปี 2565 จากมูลค่าตลาดในปัจจุบัน อยู่ที่ 23.5 ล้านปอนด์

ด้วยแรงหนุนจากสภาพเศรษฐกิจที่บีบให้ชาวอังกฤษต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนชาวอังกฤษถึง 89.4% เข้าไปซื้อของในดิสเคานต์สโตร์อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ผลักดันให้เชนร้านดิสเคานต์สโตร์ อาทิ อัลดิ (Aldi) ลิน(Lidl) และบีแอนด์เอ็มบาร์เกนส์ (B&M Bargains) ขึ้นแท่นแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยม โดยทั้ง 3 แบรนด์ถือเป็นผู้เล่นหลักที่ครองส่วนแบ่งถึง 70% ของตลาดดิสเคานต์สโตร์

โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องซื้อซ้ำอยู่เสมอและไม่มีความแตกต่างระหว่างแบรนด์มากนัก อาทิ อาหารและของชำ, ของใช้ในบ้าน รวมถึงสินค้าสุขภาพและความงาม

ในขณะที่กลุ่มดีไอวาย (DIY) และของแต่งบ้าน-สวนมีแนวโน้มจะมาแรงในอนาคต จากการที่ร้านต่าง ๆ หันมาโปรโมตเรื่องการซ่อมแซม และอัพเกรดบ้านด้วยตนเองในราคาถูก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เริ่มหันมาดูแลบ้านด้วยตนเองกันมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนระมัดระวังในการจับจ่าย และมองว่าการจ้างช่างหรือผู้รับเหมามีราคาที่แพงเกินไป

“โมลลี่ จอนสัน จอนห์” นักวิเคราะห์อาวุโสของโกลบอลดาต้า อธิบายเทรนด์นี้ว่า เชนดิสเคานต์สโตร์ได้อัพเกรดภาพลักษณ์รวมถึงความหลากหลายของสินค้าหลายกลุ่ม โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าจำพวกอาหารและของชำที่เป็นโอว์นแบรนด์ (Own Brand) ขึ้นมาจำนวนมาก

โดยมีตั้งแต่ระดับแมสจนถึงพรีเมี่ยมจนผู้บริโภคให้การยอมรับ ถือเป็นช่องทางที่ดึงลูกค้าหน้าใหม่ให้มาทดลองใช้บริการ ก่อนจะรักษาเอาไว้ด้วยการลดราคาสินค้าแบรนด์เนมอย่าง กลุ่มสุขภาพและความงาม จึงสามารถชิงลูกค้าจากค้าปลีกอื่นมาได้จำนวนมาก

“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่อย่างไรผู้บริโภคก็ยังต้องซื้อของกินสม่ำเสมอถือเป็นโอกาสของดิสเคานต์สโตร์ที่จะใช้ทำตลาดทั้งด้วยราคา คุณภาพสมน้ำสมเนื้อ และความสะดวกแบบวันสต็อปช็อปปิ้ง”

ด้วยกลยุทธ์นี้คาดว่าเซ็กเมนต์สินค้าอาหารและของชำในดิสเคานต์สโตร์จะเติบโตจาก 1.57 หมื่นล้านปอนด์ในปัจจุบันเป็น 2.18 หมื่นล้านปอนด์ในปี 2565 ส่วนกลุ่มดีไอวายและแต่งบ้าน-สวนมีโอกาสเติบโตสูงถึง 46.6% และ 42.6% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากหลายเชนเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มนี้ไว้รองรับดีมานด์ พร้อมสร้างการรับรู้เพื่อชิงขึ้นเป็นผู้นำเทรนด์เช่น บีแอนด์เอ็มบาร์เกนส์ ซึ่งประกาศตั้งศูนย์รวมสินค้าตกแต่งสวนโดยเฉพาะในสาขาของตน


แม้ว่าเทรนด์นี้จะเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่ได้สินค้าราคาถูก แต่สำหรับผู้ประกอบการรีเทลรายอื่นโดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีไลน์อัพสินค้าคล้ายกันนั้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบหาทางรับมือ ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูกันว่าเชนค้าปลีกอื่น ๆ บนเกาะอังกฤษจะงัดกลยุทธ์อะไรออกมาแก้ทาง