ก้าวใหม่ อีคอมเมิร์ซ ปั้นโลจิสติกส์ ชูส่งเร็วมัดใจลูกค้า

จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่พุ่งขึ้นเป็น 45 ล้านคน ประกอบกับราคาสมาร์ทโฟนถูกลง ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนไปชัดเจน โดยไม่สนใจว่าจะซื้อของผ่านหน้าร้าน หรือออนไลน์อีกแล้ว ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า แนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยโตขึ้นทุกปี โดยปี 2560 มีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท และปี 2561 พุ่งขึ้นเป็น 3.1 ล้านล้านบาท และที่สำคัญ คือ คนกลุ่มนี้นิยมซื้อของออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 90% กลายเป็นโอกาสใหญ่ของผู้ประกอบการทั้งแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ต (e-Market) ค้าปลีกรายใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอี ในการสร้างยอดขายจากเทรนด์ที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้แข่งขันทวีความดุเดือดมากขึ้น หากสังเกตจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา แต่ละค่ายต่างกระหน่ำโปรโมชั่นลดราคาแบบสุด ๆ และยอมแบกภาระจนหลังแอ่น ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็น “ตัวแดง” กันแทบทั้งตลาด เรียกว่าถ้าสายป่านไม่ยาวจริงคงอยู่ไม่ได้

นอกจาก “สงครามราคา” แล้ว วันนี้หลายรายเริ่มฉีกรูปแบบการแข่งขันไปอีกมิติหนึ่ง ด้วยการชูเรื่องของ “บริการ” ทั้งส่งฟรี ส่งเร็ว รับประกันของแท้ หวังปิดจุดอ่อนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มัดใจผู้บริโภคอีกแรง

จาก “แข่งราคา” ถึง “ส่งเร็ว”

แหล่งข่าวจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยโตอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีที่ขยายตัวขึ้น และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่โดดเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ราคาเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลายรายตกอยู่ในสถานการณ์ขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป โดยไม่ตัดสินใจซื้อออนไลน์ถ้าไม่มีโปรโมชั่นแรง ๆ ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มรายใหญ่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ชูบริการหลังการขายมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค เช่น ส่งเร็ว รับประกันของแท้ เป็นต้น

“ตอนนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลายรายรู้ดีว่า ถ้ายังเล่นกลยุทธ์ราคาเพียงอย่างเดียวในระยะยาวคงไม่ไหว เพราะจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเน้นสร้างบริการ เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อได้และตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็วมากขึ้น”

“นิโคโล กาลันเต้” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ ร้านที่ขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น กลุ่มที่มีร้าน ตามด้วยกลุ่มที่ขายทั้งหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ แต่ทั้งสองช่องทางไม่เชื่อมข้อมูลเข้าหากัน และสุดท้าย กลุ่มที่ผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (หน้าร้าน) เข้าด้วยกัน หรือออมนิแชนเนล (Omni-channel) โดยเซ็นทรัลเป็นรายเดียวที่ให้บริการในลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น คาดว่าแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ต (e-Market) รายใหญ่อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ ก็จะต้องเดินหน้าตามแนวทางนี้เช่นกัน คือต้องมีหน้าร้าน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้นด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น บริษัทได้จัดแคมเปญใหญ่ 11.11 Mega Sales ขึ้น ขณะที่ความพิเศษคือจะจัดโปรโมชั่นทั้งหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ออมนิแชนเนลของเครือ ด้วยการสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบไร้รอยต่อให้แก่ผู้บริโภค จะนำสินค้ากว่า 1 ล้านรายการ ลดราคาสูงสุดถึง 90% ชูจุดขายรับประกันของแท้ทุกชิ้น คาดว่ากิจกรรมครั้งนี้จะผลักดันให้ผลประกอบการปีนี้เติบโตขึ้น และดึงคนเข้าเว็บไซต์ของร้านค้าในเครือเพิ่มขึ้น 4.2 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลาของแคมเปญเมื่อช่วงเดียวกันปีก่อน

“โลจิสติกส์” กุญแจหนุน

“ปิยะพงษ์ ธัญญศรีสังข์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารสาขา บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หัวใจสำคัญของออมนิแชนเนล คือ การมีศูนย์กระจายสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นสะดวกยุคนี้ โดยได้เซ็นสัญญากับบริษัท เฟรเซอร์ส พร๊อพเพอร์ตี้

อินดัสเทเรียล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเช่าพื้นที่พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าระยะ 15 ปี บนพื้นที่ 7,500 ตร.ม. ที่บางพลี จะเปิดให้บริการได้สิงหาคม 2563 หลังศูนย์กระจายสินค้านี้แล้วเสร็จ บริษัทจะรวมศูนย์กระจายสินค้าเดิมที่มีอยู่ 5 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯเข้าด้วยกัน ผลจากการรวมศูนย์กระจายสินค้านี้ก็จะเพิ่มศักยภาพการส่งสินค้าให้เร็วขึ้นจาก ตอนนี้พื้นที่กรุงเทพฯสั่งสินค้าก่อนเวลา 14.00 น. สามารถจัดส่งได้ภายในเวลา 21.00 น. ของวันที่สั่งสินค้า เป็นส่งได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังสั่งสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซได้

‘การลงทุนครั้งนี้ทางกลุ่มเซ็นทรัลมองการเติบโตในธุรกิจค้าปลีกระยะยาวอีก 5-10 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าการมีศูนย์กระจายสินค้าจะเป็นสปริงบอร์ดสำคัญในการทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโต 5-10% ตามแผนที่วางไว้”

สอดรับกับนายแทยอง จอง รองประธานกรรมการบริหารอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนส่งพัสดุ บริษัท ซีเจ โลจิสติคส์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด จากจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ก็โตขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคซื้อสินค้าทุกอย่างผ่านออนไลน์ เนื่องจากสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ก็โตขึ้นด้วย ดังนั้น บริษัทต้องเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทด้วย

รองรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จะโตขึ้นในอนาคต โดยจะลงทุนกว่า 1.3 พันล้านบาทภายในปี 2564 เพื่อรองรับการจัดการพัสดุเป็น 4 แสนชิ้นต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 แสนชิ้นต่อวัน พร้อมขยายฐานลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอีมากขึ้น จากปัจจุบันที่ฐานลูกค้าหลัก คือ กลุ่ม BTC (business to cosumer) เช่น ลาซาด้า กลุ่มเซ็นทรัล ซีพี ออลล์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ “แจ็ค จาง” รองเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะเดินหน้าลงทุนด้านโลจิสติกส์ต่อเนื่อง โดยจะขยายคลังเก็บสินค้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ เพราะโลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญของอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ปลายปีนี้คาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะคึกคักขึ้น โดยบริษัทเดินหน้าจัดแคมเปญใหญ่ทุกเดือนต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ

“จากนี้ไปค่าส่งสินค้าจะถูกลง และระยะเวลาการส่งที่ต้องเร็วขึ้น ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจนี้”

ขณะที่ช้อปปี้ (Shopee) จัดแคมเปญ Big Sale 11.11 ยิงยาวข้ามเดือน เริ่มตั้งแต่ 21 ต.ค.-11 พ.ย.นี้ จูงใจขาช็อปด้วยเงื่อนไขพิเศษ ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ แจกโค้ดลด 50% และชั่วโมง happy hour ซื้อสินค้าทุกชิ้นราคา 9 บาท ตามช่วงเวลาที่กำหนด

เมื่อผู้บริโภคสั่งทุกอย่างบนออนไลน์ถือเป็นโอกาสสำคัญ ขณะที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซก็ต้องขยับอีกสเต็ป ด้วยการก้าวข้ามสงครามราคาแล้วแข่งที่บริการ ส่งเร็ว ส่งฟรี การันตีคุณภาพ ปิดจุดอ่อนและมัดใจผู้บริโภคระยะยาว