ฟู้ดดีลิเวอรี่3.5หมื่นล.ร้อนฉ่า ร้านอาหารดังเปิดศึกชิงลูกค้า

gettyimages

ร้านอาหารรายใหญ่จัดสู้ศึก “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ทุ่มสร้างแพลตฟอร์มเสริมทัพ หวังชิงตลาด 3.5 หมื่นล้าน “โออิชิ” ลงทุนตั้งบริษัทใหม่ ลุยเต็มสูบ ส่วน “เซ็น” ปิ๊งไอเดีย ทำครัวกลางรองรับออร์เดอร์ออนไลน์ ส่วนเครือ “ซีอาร์จี” ผนึกเครือเซ็นทรัล-พันธมิตรเพิ่มฐานลูกค้า “ไมเนอร์” ลั่นปีนี้โตเบาะ ๆ 50%

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา “ฟู้ดดีลิเวอรี่” เป็นธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย และเทคโนโลยีที่ทำให้การซื้อของจ่ายเงินได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้หอมหวน และคาดการณ์ว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าถึง 35,000 ล้านบาท ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดผู้ให้บริการรับส่งอาหารเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เก็ทฟู้ด ฯลฯ และมีการแข่งขันเพื่อชิงลูกค้าอย่างดุเดือด ผ่านการทำโปรโมชั่นทั้งส่งฟรี ส่วนลดตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย หรือคิดค่าส่งที่สตาร์ตเบา ๆ เพียง 10 บาท เพื่อดึงให้คนใช้บริการแพลตฟอร์มของตัวเอง

ล่าสุด “เครือร้านอาหาร” รายใหญ่ ทั้งโออิชิ, ซีอาร์จี, ไมเนอร์, เซ็น ฯลฯ เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการจัดทัพด้านดีลิเวอรี่ครั้งใหญ่ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา เพื่อความคล่องตัวและการเข้าถึงฐานลูกค้าของตัวเอง รวมถึงการต่อยอดธุรกิจ จากที่ก่อนหน้านี้หลายค่ายใช้วิธีการร่วมกับพันธมิตรที่รับส่งอาหารเป็นผู้นำสินค้าไปส่งถึงมือผู้บริโภค

“โออิชิ” ทุ่มตั้งบริษัทใหม่ลุย

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจดีลิเวอรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าผู้บริโภคหันมาเลือกใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกและข้อจำกัดด้านเวลา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางดีลิเวอรี่เพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มโอกาสการขายเสริมจากหน้าร้านที่ทราฟฟิกส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น

ล่าสุด โออิชิ กรุ๊ป ได้จัดตั้งบริษัท โออิชิ เดลิเวอรี่ จำกัด เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจดีลิเวอรี่ ช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ และสร้างแอปพลิเคชั่น BevFood สำหรับรองรับการสั่งอาหารจากร้านในเครือของโออิชิ ทั้ง 7 แบรนด์ อาทิ โออิชิแกรนด์ โออิชิอีทเทอเรียม โออิชิบุฟเฟต์ ชาบูชิ นิกุยะ โออิชิราเมน และคาคาชิ รวมถึงรองรับการสะสมคะแนน ระบบบัตรสมาชิก แจ้งข่าวสารโปรโมชั่นต่าง ๆ ก่อนเตรียมจะพัฒนาไปสู่รูปแบบการทำซีอาร์เอ็มเฉพาะบุคคล และขยายไปสู่ธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือของไทยเบฟ ในอนาคต

“ตรงนี้จะเป็นการเสริมกับบริการดีลิเวอรี่ที่บริษัทมีอยู่เดิม ที่สั่งผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1773 ปัจจุบันยอดขายดีลิเวอรี่ยังคงมาจากการ โทร.สั่งถึง 70% ส่วนช่องทางออนไลน์ประมาณ 30% จากนี้ต้องการจะบาลานซ์ให้เท่า ๆ กัน จึงได้พัฒนาทั้งแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ OISHIDELIVERY.COM ซึ่งนอกจากบริการส่งถึงบ้านแล้ว ยังมีบริการ Click & Collect ให้ลูกค้าสั่งซื้ออาหารล่วงหน้าทางออนไลน์ และรับสินค้าที่สาขาของร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ ใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าบริการ”

“เซ็น-ซีอาร์จี” เพิ่มดีกรีบุกต่อ

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ให้บริการร้านอาหารเซ็น, ออนเดอะเทเบิล, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่าดีลิเวอรี่เป็นช่องทางที่จะเติบโตสูงในอนาคต บริษัทจึงมีแผนที่จะพัฒนาครัวกลางขึ้นมารองรับการทำอาหารสำหรับส่งดีลิเวอรี่โดยเฉพาะ แทนการเปิดหน้าร้านซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยครัวกลางนี้จะใช้พื้นที่เพียง 100-200 ตร.ม. ล่าสุดได้นำร่องโดยแบรนด์ “เขียง” ที่บริเวณศาลาแดง ก่อนที่จะศึกษาเพื่อทำในแบรนด์อื่น ๆ ต่อไป โดยแผนการเปิดสาขาในปีหน้าจะมีประมาณ 100 สาขา ในจำนวนนี้จะเป็นครัวกลาง 40% จากที่ผ่านมาได้เข้าไปจับมือกับแอปพลิเคชั่น ฟู้ดแพนด้า, ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด ฯลฯ รวมถึงบริการดีลิเวอรี่ที่สั่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละสาขา

ขณะที่นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหาร โอโตยะ, โยชิโนยะ, ชาบูตง, เปปเปอร์ ลันช์, อานตี้ แอนส์ ฯลฯ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมาตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีการเติบโตเป็นดับเบิลดิจิต โดยแบรนด์คัตสึยะ และโอโตยะ มียอดขายผ่านดีลิเวอรี่สูงสุดจากร้านอาหารทั้ง 13 แบรนด์ในเครือ บริษัทจึงเพิ่มความสำคัญและขยายธุรกิจผ่านช่องทางนี้มากขึ้น ทั้งการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภค และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น แอปพลิเคชั่น FOOD Hunt1 312 ที่รองรับการสั่งอาหารจากทุกร้านในเครือซีอาร์จีภายในออร์เดอร์เดียว และสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้นานสูงสุด 7 วัน

ในอนาคตยังมีแผนจะพัฒนาให้รองรับบริการ Click & Collect หรือการสั่งอาหารผ่านแอป และระบุเวลาที่จะเข้ามารับที่ร้านได้ และสามารถสะสมคะแนน T1 ของเครือเซ็นทรัล เสริมกับการที่เข้าไปผนึกกับช่องทาง เช่น แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและสร้างความครอบคลุมให้กับทุกเซ็กเมนต์

ไมเนอร์ลั่นปีนี้โตเบาะ ๆ 50%

นายฌอน เซี๊ยะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ผู้ให้บริการร้านอาหาร เดอะ พิซซ่า คอมปะนี สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง เดอะ คอฟฟี่ คลับ ฯลฯ ระบุว่า นอกจากไมเนอร์ในฐานะผู้ริเริ่มการส่งอาหารแบบดีลิเวอรี่ ที่มีเครือข่ายพนักงานส่งกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ และมีแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่น 1112Delivery ที่พัฒนาขึ้นเอง

ปัจจุบันจับมือกับแพลตฟอร์มการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น แกร็บฟู้ด สำหรับ 6 แบรนด์ในเครือ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง และเดอะ คอฟฟี่ คลับ รวมถึงแอปพลิเคชั่นเก็ท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและเสริมความแข็งแกร่งของฐานลูกค้า ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันยอดขายของธุรกิจดีลิเวอรี่ปีนี้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 50%