“แมคโดนัลด์” จัดทัพครั้งใหญ่ ปิดสาขาลดต้นทุน-อัดโปรถี่ชิงยอดขาย

“แมคโดนัลด์” ปรับตัวรองรับตลาดร้านอาหารแข่งเดือด รื้อโครงสร้างการบริหารใหม่ “เฮสเตอร์ ชิว” วางมือโยกขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา-ดึงมืออาชีพประสบการณ์สูงเสริมแกร่ง พร้อมมุ่งลดต้นทุน ตัดใจหั่นสาขาไม่ทำกำไรทิ้ง

หลังแนวโน้มกำไรลดลงต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี ติดตั้งเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ รับไลฟ์สไตล์นักกินรุ่นใหม่ จัดโปรโมชั่น ออกสินค้าใหม่ถี่ยิบ หวังดึงยอดขายคืน

ดีกรีการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งไทย-เทศ และมีอาหารให้ลิ้มลองหลากหลายประเภทที่ดาหน้าเข้ามาปักธงอยู่ทั่วทุกมุมเมือง รวมถึงการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านอาหารทุกระดับได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสตรีตฟู้ด หรือภัตตาคารหรู เป็นตัวแปรที่ทำให้ร้านอาหารรายเดิมโดยเฉพาะแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วน (QSR : quick service restaurant) ที่มีมูลค่าประมาณ 44,000 ล้านบาท ต้องทยอยปรับตัวเพื่อรองรับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป

จัดทัพรับตลาดแข่งขันเดือด

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ “แมคโดนัลด์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะตลาดร้านอาหารที่มีการแข่งขันสูง จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ และมีอาหารที่หลากหลายมากขึ้น บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นผลทำให้แมคโดนัลด์ต้องทยอยปรับตัวมาเป็นระยะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของกลยุทธ์การตลาด เมนูอาหาร บริการ รวมถึงการบริหารงานภายใน เช่น เมื่อกลางปีที่ผ่านมานายเฮสเตอร์ ชิว ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย และโยกขึ้นไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัท

นอกจากนี้ ยังได้ดึงนายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหาร มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เพื่อดูภาพรวมการตลาดของแมคโดนัลด์แทนเฮสเตอร์ ชิว จากก่อนหน้านี้ที่นายธันยเชษฐ์เคยเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นเซน, อากะ, ร้านอาหารอีสานตำมั่ว ฯลฯ และเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเคเอฟซี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

“หลังจากที่คุณเฮสเตอร์ ชิว โยกขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ว่างก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน”

ปิดสาขาไม่ทำเงิน-ลดต้นทุน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกจากการปรับการจัดการบริหารภายในดังกล่าว ที่ผ่านมาบริษัทยังได้มีการทบทวนนโยบายการเปิดสาขา โดยนอกจากจะมีการชะลอการเปิดสาขาใหม่จำนวนหนึ่งแล้ว อีกด้านก็ได้ทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรลง ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับปรุงสาขาที่ทำรายได้ดีให้ทันสมัยมากขึ้น และต้องยอมรับว่าปัจจุบันค่าเช่าพื้นที่ตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่าง ๆ จะมีอัตราค่อย ๆ สูงขึ้น และจะมีการปรับขึ้นทุก ๆ ช่วงตามสัญญา ซึ่งถือเป็นฟิกซ์คอสต์ที่สูง

“ตอนนี้การเปิดสาขาของแมคโดนัลด์เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นเปิดสาขาจำนวนมาก ๆ ก็ลดลง และจะหันมาโฟกัสที่ทำเลมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดร้านอาหารมีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากร้านอาหารใหม่ ๆ เปิดในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาด ดังนั้น การเปิดสาขาจำนวนมาก ๆ เพื่อแข่งกับรายอื่น ๆ คงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น แมคโดนัลด์จึงต้องปรับตัวเองในหลากหลายมิติเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้” แหล่งข่าวย้ำ

เติมเทคโนโลยีรับคนรุ่นใหม่

แหล่งข่าวรายนี้ให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับในแง่ของบริการที่ผ่านมา บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เช่น การติดตั้งเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ (self-ordering kiosk : SOD) ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 โดยตั้งเป้าจะขยายปีละ 15-20 สาขา เน้นรูปแบบสาขาไดรฟ์ทรูเป็นหลัก และสาขาใหม่ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมกันนี้ยังรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร “แมคดีลิเวอรี่ 1711” ที่สามารถให้ข้อมูลสาขาใกล้เคียง และโปรโมชั่นใหม่ ๆ แก่ลูกค้าได้ พร้อมกับมีแผนจะลงทุนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อรองรับการจองเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การจองห้องประชุม การจองห้องจัดวันเกิดแบบส่วนตัว การสำรองที่นั่งเวิร์กช็อปสำหรับเด็ก และยังเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างแบรนด์และลูกค้าผ่าน Talk2Mc ทำแบบสอบถามสำรวจความพึงพอใจการใช้บริการแมคโดนัลด์เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของอาหารและการใช้บริการในร้าน

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น แมคโดนัลด์ยังมีการจัดโปรโมชั่นและออกสินค้าใหม่ถี่ขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง เช่น เดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็มีทั้งออกสินค้าใหม่และจัดโปรโมชั่นลดราคา เช่น จัดเซตคุ้มค่าของเบอร์เกอร์เนื้อคู่ โปรฯเด็ดแมคนักเก็ต 6 ชิ้น ราคา 35 บาท เป็นต้น หรือล่าสุดจัดแคมเปญสุดคุ้มแห่งปี (McDelivery Big Day Once A Year) มอบส่วนลดให้ลูกค้าที่สั่งดีลิเวอรี่ในช่วงเทศกาลบิ๊กเซลส์ 11 เดือน 11 รวม 4 วัน (8-11 พ.ย. 2562) เป็นต้น

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท แมคไทย จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2526 ทุนจดทะเบียน 760 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ วิชา พูลวรลักษณ์, ภารดี พูลวรลักษณ์, ชิว ไฮ เซียน เฮสเตอร์ อาร์เธอร์, วิศรุต พูลวรลักษณ์, วิชญะ พูลวรลักษณ์ และวิรชา พูลวรลักษณ์ ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีสาขาประมาณ 236 สาขา เป็นสแตนด์อะโลน 162 สาขา และไดรฟ์ทรู 74 สาขา หลัก ๆ เปิดในห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน โรงพยาบาล และคอมมิวนิตี้มอลล์ ซึ่งแต่ละสาขามีพนักงานประมาณ 6-10 คน


สำหรับผลการดำเนินงานที่บริษัท แมคไทย แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ จากการตรวจสอบพบว่า ตัวเลขมีกำไรลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2559 มีรายได้ 6,463 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 6,581 ล้านบาท กำไร 2.6 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวม 6,300 ล้านบาท ขาดทุน 310 ล้านบาท