สินค้าสุขภาพแรงไม่หยุด “เนสท์เล่” ลุยควบกิจการเสริมพอร์ต

สินค้าสุขภาพอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฟังก์ชั่นนอลฟู้ด และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ เป็นสินค้าที่กำลังมาแรง โดยบริษัทวิจัยแกรนด์วิวคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าสุขภาพ หรือ “นิวตราซูติคอล” (nutraceuticals) นี้จะมีมูลค่า 5.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ด้วยแรงหนุนจากความสนใจในสุขภาพทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกมองหาสินค้าทั้งอาหารและของใช้ที่ดี หรืออ้างว่าดีกับสุขภาพ โดยเฉพาะในโซนเอเชีย-แปซิฟิกจะมีการเติบโตรวดเร็วสุดในอัตราเฉลี่ย 9.9% ต่อปีจากดีมานด์ในจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนด้านสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหัวหอกหลักมีอัตราเติบโต 9.7% ต่อปี

แนวโน้มการเติบโตนี้ทำให้ยักษ์อุตสาหกรรมอาหารอย่าง “เนสท์เล่” หันมาโฟกัสตลาดนี้มากขึ้น พร้อมทุ่มเม็ดเงินลงทุน-ควบรวมกิจการที่มีศักยภาพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนราวกับเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่มากกว่าบริษัทอาหาร

โดยสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า “เนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์” (Nestle Health Science) บริษัทย่อยด้านยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของเนสท์เล่ เข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตสินค้าและให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปแล้วมากกว่า 10 แห่ง โดยล่าสุดลงทุนใน “บีฟอร์ แบรนด์” (Before Brands) บริษัท

ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับป้องกันการเกิดภูมิแพ้ในเด็ก ต่อเนื่องจากการซื้อกิจการ “เพอโซน่า” (Persona) ผู้ให้บริการผลิตวิตามินแบบเฉพาะบุคคล พร้อมส่งให้ถึงบ้าน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมตามกระแสคัสตอมไมเซชั่น หรือบริการแบบเฉพาะบุคคลที่ลามมาจากธุรกิจอื่น ๆ อาทิ บันเทิง แฟชั่น ไอที ฯลฯ

เมื่อเดือน ส.ค.ที่่ผ่านมา หวังขยายฐานลูกค้าในตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

“เกรก เบอฮา” ประธานบอร์ดและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์ อธิบายว่า ปัจจุบัน

ผู้บริโภคมีแนวโน้มต้องการโซลูชั่นสุขภาพที่สามารถปรับให้เหมาะกับตนเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทจึงเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอให้หลากหลายครบวงจรด้วยการหาสตาร์ตอัพและบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการเข้ามา โดยตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2554 บริษัทซื้อกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับโภชนาการการแพทย์ อาหารเสริม และอื่น ๆ เข้ามาแล้วมากกว่า 10 บริษัท

หลังจากนี้ จะเข้าหนุนธุรกิจของเพอโซน่าด้วยการขยายทีมงานเพิ่มอีก 1.5 เท่า เป็น 75 คน เพื่อรองรับแผนการขยายฐานลูกค้าจากปัจจุบันที่รองรับเฉพาะในสหรัฐเป็น 32 ประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย

ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ “มาร์ก ชไนเดอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเนสท์เล่ ที่ประกาศเน้นเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจให้กับแบรนด์อายุกว่า 100 ปีนี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2560 ซึ่งธุรกิจสุขภาพเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่บริษัทให้ความสนใจ

โดยปีที่แล้วเนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์ ทำรายได้ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากสินค้าเด่นอย่างโปรตีนเชคแบรนด์ “บูสท์” (BOOST) และซุปผง

“มาริเทน” (Meritene) ที่มีจุดขายช่วงลดความเหนื่อยล้า และคาดว่าการเข้าซื้อกิจการ-ลงทุนในปีนี้จะช่วยให้ปี 2563 รายได้เติบโตก้าวกระโดดอย่างน้อย 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สอดคล้องกับความเห็นของ “รูบิค บารา” ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพและการวินิจฉัยโรคของบริษัทวิจัยแกรนด์วิว ที่ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในหลายประเทศยอมทุ่มทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การนอน และการกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อหลีกหนีให้ห่างจากบิลค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเนสท์เล่จะเริ่มเห็นศักยภาพของตลาดนี้

โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสินค้าที่ดึงดูดความสนใจของยักษ์ธุรกิจนอกวงการ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ถูกควบคุมจากหน่วยงานรัฐน้อยกว่ายา จึงมีความคล่องตัวทั้งด้านการวิจัยพัฒนาสินค้า

การทำการตลาดและซื้อขาย จึงเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะได้เห็นบริษัทใหญ่จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพเพื่อรุกเข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะฉายแววถึงความคึกคักในตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเพิ่มขึ้นหลังผู้เล่นรายใหญ่จากธุรกิจอื่น ๆ พากันตบเท้าเข้ามาร่วมวงหวังชิงเม็ดเงินช่วงที่ตลาดกำลังเติบโตจากเทรนด์สุขภาพ