ลาซาด้าจัดโปรลดราคา พาราควอตเกลี้ยงตลาด

เกษตรกรแห่กักตุน “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส”สต๊อกร้านขายยาฆ่าหญ้าหมดเกลี้ยง ร้านค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา เหตุไม่มีสารเคมีใดทดแทนได้ “LAZADA” จัดโปรโมชั่นลดราคาสารอันตรายพาราควอต 5 ลิตร 500 บาท บางเว็บขายดีของหมด ม็อบเกษตรกร ขนยาฆ่าหญ้าเทหน้ากระทรวง 1 ธ.ค. นี้

กรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งที่ 1511/2562 เรื่องการดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ระบุให้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส จะต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน เฉพาะกรุงเทพมหานครให้แจ้งที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรเขต 1-9 และให้ส่งมอบวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อเจ้าพนักงานทันทีภายใน 15 วัน นับจากวันที่แจ้งครอบครอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

แห่ซื้อฉวยขึ้นราคา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจร้านค้าจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในหลายจังหวัดพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่แทบจะไม่มีสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจำหน่ายแล้ว บางร้านปรับขึ้นราคา เนื่องจากมีความต้องการจากเกษตรกรเข้ามาซื้อตุนไว้ใช้ จากการไม่มีการเตรียมการของทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใดมาทดแทนทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ-ราคาที่ใกล้เคียงกับสารเคมีเดิมที่ถูกแบนไปแล้ว

โดยร้านจำหน่ายสารเคมีเกษตรในจังหวัดจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้สำคัญของประเทศแจ้งว่า ร้านส่วนใหญ่มีสต๊อกสารเคมีเหลือน้อยมาก และเชื่อว่าจะจำหน่ายได้หมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยไม่มีเหลือสต๊อกคืนให้กับบริษัทผู้ผลิต-ผู้แทนจำหน่าย เนื่องจากเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ “เพราะไม่รู้จะไปใช้สารทดแทนตัวไหนที่มีประสิทธิภาพเท่ากับตัวเก่า” จนก่อให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น “มีหลายร้านในพื้นที่ถือโอกาสปรับขึ้นราคา อย่างพาราควอต ยาฆ่าหญ้ายี่ห้อกรัมม็อกโซน (Gramoxone) ขึ้นราคาจาก 5 ลิตร 650-680 บาท เป็น 720 บาท (1 ลิตร 190 บาท) หรือไกลโฟเซต ยี่ห้อราวอัพ (Roundup) ก็ปรับขึ้นราคาจากแกลลอนละ 480 บาท เป็น 580 บาท

ส่วนร้านจำหน่ายสารเคมีการเกษตรที่จังหวัดระนองก็ปรับขึ้นราคาเฉลี่ยแกลลอนละ 600-700 บาท ส่วนที่กระบี่ยังจำหน่ายในราคาเดิมและสต๊อกก็เหลือน้อยมากแล้ว สอดคล้องกับร้านวัสดุการเกษตรที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนใหญ่แจ้งว่าทั้ง 3 สารยังจำหน่ายได้เรื่อย ๆ เกษตรกรเข้ามาซื้อที่ร้านหนาแน่นมาก เพราะไม่รู้จะใช้สารตัวใดมาทดแทนในราคาที่เท่ากับสารเคมีตัวเดิม ตอนนี้พาราควอตแทบจะไม่มีเหลือจำหน่ายแล้ว

“เชื่อว่าหลัง 1 ธันวาคม ในส่วนของร้านค้าจะไม่มีสต๊อกตกค้างเหลือคืนให้กับทางบริษัท นอกจากนี้ บริษัทผู้แทนจำหน่ายยังได้แจ้งให้กับร้านค้าทาง Line ทราบว่า ถ้าร้านยังขายไม่หมดและต้องการส่งคืนให้กับทางบริษัท ทางร้านจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าทำลายลิตรละ 1 บาทด้วย”

ขายเกลื่อน LAZADA

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าว ได้ตรวจสอบการขายสารเคมีกำจัดวัชพืชผ่านทางช่องทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซหลายราย ปรากฏมีการระดมจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ อาทิ LAZADA ร้านค้าออนไลน์ชื่อดัง นำสารเคมีไกลโฟเซตมาจัดลดราคาจำหน่าย-จัดโปรโมชั่น พาราควอต 5 ลิตร 500 บาท ส่งฟรี บางรายถึงกับต้องแจ้งงดการจำหน่ายเพราะสินค้าหมดโดยการทำการตลาดดังกล่าวชวนให้ความกังวลในลักษณะที่ว่า ทำไมสารเคมีการเกษตรอันตรายอย่างพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ถึงหาซื้อกันได้ง่ายดายอย่างนี้

แหล่งข่าวจากช้อปปี้กล่าวว่า ช้อปปี้มุ่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานทุกคน ทางเรามีหน่วยงานตรวจสอบรายการสินค้าที่วางจำหน่าย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ “ช้อปปี้” นั้น เป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับของทางภาครัฐ สำหรับกรณีของพาราควอต ทาง “ช้อปปี้” ได้ดำเนินการระงับการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพาราควอต ทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังขึ้นบัญชีดำคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับพาราควอตอีกด้วย ฉะนั้นร้านค้าจะไม่สามารถวางจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพาราควอตบนแพลตฟอร์มได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็จะไม่สามารถค้นหารายการสินค้าจากคำค้นดังกล่าวบนช้อปปี้ได้อีกเช่นกัน

ในกรณีนี้ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้อสินค้าสารเคมีการเกษตรเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ เบื้องต้นพบว่าฉลากที่ระบุเป็นสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และยังพบหลายยี่ห้อมีส่วนผสมของสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ดังนั้นจึงได้

สั่งการให้ “สารวัตรเกษตร” กรมวิชาการเกษตร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจค้นแหล่งผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 5 จุด ตามที่สืบทราบ โดยแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจค้นกระจายไปตามจุดต่าง ๆ ได้แก่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี, อ.จอหอ จ.นครราชสีมา, อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จำนวน 2 จุดผลการตรวจค้นพบของกลางที่กระทำผิดกฎหมาย พบเป็นวัตถุอันตรายจำนวน 18 รายการ และปุ๋ยจำนวน 36 รายการ ปริมาณรวมทั้งสิ้น 58.5 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท

เทพาราควอตหน้ากระทรวง

ศาสตราจารย์ ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสารเคมีการเกษตรทดแทนจำนวน 16 ชนิด ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้นั้น มีเพียง “กลูโฟซิเนต” เท่านั้นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงที่จะใช้ทดแทนกันได้มากที่สุด แต่สารเคมีตัวนี้ก็ยังมีราคาแพง ประมาณ 400-490 บาท/ลิตร การออกฤทธิ์ใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งไม่ปลอดภัยกับพืชบางประเภทอย่าง อ้อยข้าวโพด มัน เมื่อเทียบกับพาราควอตและไกลโฟเซตที่มีราคาเพียง 100-150 บาท/ลิตรยังมีข้อบ่งชี้ว่า กลูโฟซิเนตมีการผสมสารพาราควอตเช่นกัน

ส่วนนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า หลังวันที่ 1 ธันวาคม ผู้ครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษคือ หากมีเกิน 20 ลิตร ปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 3 ปี ถือเป็นโทษที่สูงมาก “เราจะรวบรวมสารเคมีจำนวน 29,000 ตัน ไปเททิ้งที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่เป็นคนทำให้ยาเหล่านี้จากที่เคยถูกกฎหมายมาเป็นผิดกฎหมาย และไม่มีทางออกให้กับเกษตรกรแต่อย่างใด รวมถึงจะเริ่มกระบวนการฟ้องศาลปกครองใหม่ทันที เพราะคำสั่งออกมาชัดเจนแล้ว และเกษตรกรเสียหายมาก”

คลิกอ่าน : Lazada ขานรับนโยบายรัฐสกัด “พาราควอต”ออกจากแพลตฟอร์ม