BDMS ทุ่ม 3.8 พันล้าน ผุดแบรนด์ใหม่ขยายฐาน

BDMS ทุ่มงบฯ 3,800 ล้าน ผุดโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เน้นรักษาเฉพาะโรค ผ่านเทคโนโลยีเครื่องมือการแพทย์ครบวงจร เตรียมนำแพทย์ต่างประเทศเสริมทัพการรักษา พร้อมพัฒนาการบริการเท่าโรงแรมห้าดาว รองรับผู้ป่วยไทย-เทศโรงพยาบาล

นายไมเคิล เดวิด มิตเชลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ทุ่มงบประมาณ 3,800 ล้านบาท ลงทุนขยายอาคารใหม่ จำนวน 172 เตียง เพื่อรองรับโอกาสการขยายตัวทางธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล” ด้วยแนวคิด “ทุกการรักษาคือศิลปะ” ซึ่งโรงพยาบาลใหม่นี้จะเน้นการบริการรักษาเฉพาะด้าน เช่น โรคสมองและระบบประสาท กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น ด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาเฉพาะทางกว่า 200 คน

ขณะที่กลยุทธ์หลัก ๆ จะเน้นการรักษาให้มีมาตรฐาน และการให้บริการผู้ป่วยอย่างครบวงจร ผ่านแนวคิด “Smart Hospital” ประกอบด้วย การพัฒนาระบบสั่งยาโดยแพทย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และการใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสมาร์ทไอซียู ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต และระบบควบคุมภายในห้องพักอัตโนมัติ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น My B+ เพื่อเก็บประวัติการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ทีมแพทย์เข้าถึงข้อมูลการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

“ทิศทางการดำเนินธุรกิจจากนี้ไปยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย ด้วยเครื่องมือการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมเตรียมดึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเสริมสร้างการรักษา”

นายแพทย์อัศวิน ภูวธนสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงอายุที่ขยายตัวขึ้น และความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ควบคู่ไปกับการให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นจึงจะต้องยกระดับการรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนผู้ป่วยคนไทยยังเป็นอันดับหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลประมาณ 70% และผู้ป่วยต่างประเทศ 30% โดยหลัก ๆ มาจากเมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น

“ปัจจุบันการขยายตัวของผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในไทยมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี เนื่องจากโรงพยาบาลในไทยมีบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงมีอัตราค่ารักษาที่อยู่ในระดับมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่าย”

สำหรับ 9 เดือนที่่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 62) มีรายได้รวม 62,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันจากปีนี้ เนื่องจากรายได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะจำนวนผู้ป่วยและการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลตามความซับซ้อนของโรค ประกอบกับการขยายฐานลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพและการประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยวิกฤตมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น