“ตี๋-หมวย” แห่เรียนเปียโน “ยามาฮ่า” จีนยอดกระฉูดแซงญี่ปุ่น

ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะฝืดเคืองแค่ไหน แต่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานเป็นหนึ่งในรายจ่ายที่ผู้ปกครองทุ่มลงทุนอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับในประเทศจีนที่แม้ปีนี้เศรษฐกิจจะชะลอตัวมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยช่วงไตรมาส 3 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 6% ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 27 ปี แต่คอร์สเรียนดนตรีและยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้องยังคงเติบโตต่อเนื่อง

โดยเปียโนเป็นหนึ่งในคอร์สยอดนิยมของผู้ปกครองชาวจีนในขณะนี้ เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยของเด็ก หลายบ้านจึงทุ่มงบฯซื้อเปียโนซึ่งอาจมีราคาสูงถึง 1.3 แสนบาทเพื่อให้เด็กได้ฝึก ส่งผลให้ยอดขายเปียโนพุ่งตามไปด้วย กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า ขณะนี้ “ยามาฮ่า” ผู้ผลิตเครื่องดนตรีสัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่ มียอดขายจากจีนสูงกว่าในญี่ปุ่นแล้ว โดยเฉพาะเปียโนซึ่งเป็นสินค้าเรือธงมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน จนทำให้สัดส่วนรายได้จากจีนเพิ่มเป็น 17% ของรายได้ทั่วโลก ก้าวกระโดดจากสัดส่วน 5% เมื่อ 10 ปีก่อน

“เทรุฮิโกะ สึรูมิ” ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจเครื่องดนตรีของยามาฮ่า อธิบายว่า ตอนนี้เปียโน ราคาประมาณ 1.3 แสนบาท มีสัดส่วนถึง 15% ของยอดขายในจีน มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มพ่อแม่อายุประมาณ 30 ปี ที่มีลูกอายุ 3-5 ขวบ

“ยามาฮ่า” ประเมินว่า จีนจะกลายเป็นตลาดหลักของบริษัท ภายในปีงบประมาณ 2562 นี้ และเป็นไปตามแผนธุรกิจระยะกลางที่จะมีรายได้รวมทั่วโลกแตะ 3.3 หมื่นล้านเยนภายในปี 2565 โดยเป็นรายได้จากจีน 1.3 หมื่นล้านเยน สูงเป็นอันดับ 1

ขณะที่นักวิเคราะห์ได้อธิบายว่า แม้รัฐบาลจีนจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวไปแล้ว แต่ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากยังนิยมมีลูกคนเดียวต่อไป ส่งผลให้พ่อแม่ทุ่มเม็ดเงินในการดูแลลูกอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับผลวิจัยเมื่อปี 2560 ของ “ซินหลาง” บริษัทไอทีรายใหญ่ของจีนที่พบว่า ครอบครัวชาวจีนที่มีลูกเล็ก พ่อแม่จะใช้จ่ายเงินสำหรับการศึกษาของลูกไว้ถึง 26% ของรายจ่ายทั้งหมด

เช่นเดียวกับ “เบเนส” สถาบันวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุว่า 90% ของเด็ก ๆ ชาวจีนที่อาศัยในเขตเมืองจะเรียนพิเศษนอกโรงเรียนด้วย ซึ่งเป็นการเรียนดนตรีถึง 20.6% สูงเป็นอันดับ 3 รองจากภาษาต่างประเทศ และวาดภาพ-เต้นรำ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้มาพร้อมความท้าทายเช่นกัน โดยกลุ่มเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเริ่มแสดงสัญญาณอิ่มตัว โดยยอดขายช่วง เม.ย.-มิ.ย.เติบโตเพียง 9% ลดลงจากเดิมที่เคยโตระดับ 2 ดิจิต

ทำให้บริษัทรับมือด้วยการหันมาชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง โดยจูงใจให้ดีลเลอร์ท้องถิ่นที่มีกว่า 500 ราย หันมาขายสินค้าของยามาฮ่าแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 36% ในปัจจุบันเป็น 40% ภายใน 3 ปี

พร้อมกับการรุกเข้าไปในพื้นที่ตอนในของประเทศ ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยังไม่มีคู่แข่งมากนัก ด้วยไลน์อัพสินค้าที่ราคาจับต้องได้ประมาณ 8.6 หมื่นบาท

ทั้งนี้ นอกจากจีนแล้วยักษ์เครื่องดนตรียังเดินแผนรุกอินเดีย ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเป็นตลาดสำคัญที่มีศักยภาพไม่แพ้จีน โดยทดลองเดินสายการผลิตที่โรงงานแห่งใหม่ในเมืองเชนไนทางตะวันออกของอินเดีย ตามด้วยการส่งอะคูสติกกีตาร์และเครื่องดนตรีไฟฟ้าเข้าไปวางขายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

หลังจากนี้ การแข่งขันในตลาดเครื่องดนตรีของจีนน่าจะทวีความดุเดือดขึ้นอีกแน่นอน เพราะอย่างน้อยที่สุดการเติบโตของยามาฮ่า น่าจะดึงดูดคู่แข่งให้หันมาสนใจชิงเม็ดเงินจากพ่อแม่ชาวจีนด้วยเช่นกัน