ขนม-เบเกอรี่หนีพิษพาราควอต แห่ตุนแป้งสาลีหวั่นหลัง1ธ.ค.นำเข้าไม่ได้

แฟ้มภาพ
เหลืออีกเพียงสัปดาห์เดียวคำสั่ง “แบน” 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็จะมีผลบังคับใช้ ท่ามกลางความสับสนและเป็นกังวลของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตัวเกษตรกรที่ยังมีสารเคมีทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงกับสารทั้ง 3 ชนิด ในขณะที่ผู้นำเข้าวัตถุดิบทั้งที่เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ ก็ยังไม่ทราบแนวทางการนำเข้าวัตถุดิบการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจากประเทศต้นทางดังกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387/2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ข้อ 4) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐานโดยตรวจ “ไม่พบ” วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในขณะที่สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 สารข้างต้น ได้ถูก “แบน” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั่นหมายถึงผู้นำเข้าวัตถุดิบทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ จะไม่สามารถนำเข้ากากถั่วเหลือง-ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-แป้ง-องุ่น-แอปเปิล-กาแฟ ที่มีการใช้และตกค้างของพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส (zero tolerance) ได้ ตั้งแต่หลังวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

ด้าน 7 สมาคมผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย, สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล, กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม, สมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย, สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว, สมาคมผู้ผลิตทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รวมกลุ่มกันแถลงท่าที “คัดค้าน” การบังคับใช้มติ “แบน” สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดและยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อน 2 ปี เพื่อพิจารณาหาสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดอื่นที่เหมาะสมทั้งประสิทธิภาพและต้นทุนมาทดแทน โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน ภาคเอกชนและเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า หากรัฐยัง “แบน” สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไปก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 1.715 ล้านล้านบาท/ปี แบ่งเป็น อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์-น้ำมันถั่วเหลือง-อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์-ปศุสัตว์ 1.1 ล้านล้านบาท, อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล 300,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง 300,000 ล้านบาท, เมล็ดพันธุ์ 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิต-ส่งออกวัตถุดิบที่ประเทศไทยนำเข้า ยังไม่ได้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว แต่มีการใช้อย่างปลอดภัยเพื่อไม่มีการ “ตกค้าง” ในผลผลิต หรือหากมีตกค้างก็อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์สูงสุดที่ประเทศไทย หรือ Codex กำหนดไว้ แต่การประกาศแบนของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่งผลให้ผู้นำเข้า-ผู้ใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประสบกับปัญหาการนำเข้าทันที โดยไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถนำเข้าได้หรือไม่ หรือจะต้องนำเข้าอย่างไร ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงสาธารณสุข ในแง่ของอาหารคน และกระทรวงเกษตรฯในแง่ของอาหารสัตว์

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเบเกอรี่รายใหญ่ของประเทศกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเบเกอรี่ ขนมปัง รวมถึงธุรกิจอาหารประเภทอื่น ๆ ที่ต้องใช้แป้งสาลีเป็นส่วนผสมหลัก มีความกังวลในเรื่องของวัตถุดิบ ซึ่งจะต้องนำเข้าจากสหรัฐเป็นหลัก “อาจจะไม่สามารถนำเข้าได้” โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการเบเกอรี่ได้เริ่มทยอยสั่งแป้งสาลีมาสต๊อกและตุนไว้จำนวนหนึ่ง พื่อรองรับกรณีที่จะไม่สามารถนำเข้าแป้งสาลีจากสหรัฐ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 387/2560

Advertisment

สำหรับตัวเลขการนำเข้า แป้งสาลี (พิกัด 1101) ของประเทศไทย ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2562 มีปริมาณ 157,848 ตัน มูลค่า 1,983 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 มีปริมาณ 170,490 ตัน มูลค่า 2,059 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าในปี 2561 ทั้งปีมีปริมาณ 205,048 ตัน มูลค่า 2,501 ล้านบาท

ล่าสุด นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ประเทศนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย-บราซิล-สหรัฐ และแคนาดา ได้ทำหนังสือมายังรัฐบาลไทย แจ้งขอรายละเอียดการ “แบน” 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายของไทย และขอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ในผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของคำสั่งแบนครั้งนี้ ในขณะที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งเข้ามาว่า ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการประสานส่งข้อมูลดำเนินการใด ๆ กับประเทศไทย ผ่านทางองค์การการค้าโลก (WTO)

Advertisment