ทีวีรายได้ติดหล่ม …เหนื่อยยาวข้ามปี

ถึงวันนี้ อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นปีที่ไม่สดใสและเหนื่อยมาก ๆ สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 3 ของหลาย ๆ ช่อง ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) และทยอยประกาศออกมา ทุกค่ายล้วนมีสถานะ “ขาลง”


อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทั้ง 15 ช่องที่เป็นผู้กล้าเดินหน้าสู้ต่อ ต่างทุ่มสรรพกำลังและออกอาวุธหนักกันอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การเพิ่มเรตติ้งให้ติดอันดับท็อปเทน ท็อปไฟฟ์ ที่จะนำมาซึ่งรายได้จากงบฯโฆษณา

เริ่มจากบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 (ช่อง 33 HD) ที่แม้ว่าจะคืนช่องให้ กสทช.ไปแล้ว 2 ช่อง ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา รายได้ลดลง 16.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีรายได้รวม 2,169 ล้านบาท ผลพวงจากรายได้จากการโฆษณาที่มีสัดส่วนถึง 77.7% ลดลง 23.3% จากปัญหาเศรษฐกิจและกระทบต่อการใช้งบฯโฆษณาของสินค้าต่าง ๆ

งานหนักจึงตกอยู่ที่ “อริยะ พนมยงค์” แม่ทัพคนใหม่ ที่เริ่มทยอยปรับคอนเทนต์ใหม่เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยการปรับโฉมรายการข่าว นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดึงความสนใจคนดูมากขึ้น และเตรียมจะปรับรูปแบบรายการวาไรตี้ใหม่ และก่อนที่จะส่งละครแม่เหล็กลงมาช่วยดึงเรตติ้งในช่วงต้นปีหน้า พร้อมกันนี้ ช่อง 3 เร่งสร้างโอกาสจากรายได้ใหม่ ๆ เช่น รายได้จากต่างประเทศด้วยการขายลิขสิทธิ์ละครให้กับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตามด้วยการบริหารการจัดการศิลปินและออนไลน์

ขณะที่เบอร์ 3 ของตลาด “โมโน 29″ที่เร่งสปีดจนแซง “เวิร์คพอยท์” มาได้ แม้เรตติ้งจะดีวันดีคืน แต่ในแง่ของรายได้ก็ยังไม่ดีนัก โดย “ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด ระบุว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้รวมประมาณ1,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 1,900 ล้านบาท

โดยเฉพาะไตรมาส 3 มีรายได้รวม 526.84 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากสื่อโฆษณา (ช่องโมโน 29) 405.28 ล้านบาท ลดลง 23% จากการแข่งขันที่รุนแรง โดยกลุ่มช่องที่มีเรตติ้งท็อป 5 จัดโปรโมชั่นเพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนช่องที่ลดลง ถือเป็นโอกาสสำคัญของโมโน 29 ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า เรตติ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปี และจากนี้ไป โมโน 29 จะเพิ่มคอนเทนต์ทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเพิ่มเรตติ้งให้สูงขึ้น และปีหน้าบริษัทมีแผนจะปรับขึ้นราคาโฆษณาเฉลี่ย 80-100% จากปัจจุบัน 35,000 บาท/นาที หรือเพิ่มเป็นประมาณ 80,000 บาท/นาที

ส่วน “เวิร์คพอยท์” ช่อง 23 ก็ยังอยู่ในอาการแผ่วลงอย่างชัดเจน คือ มีรายได้รวม 703.59 ล้านบาท หรือลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็น 303.52 ล้านบาท

เช่นเดียวกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้รวม 638 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขาดทุน 156 ล้านบาท เพราะค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้จากธุรกิจทีวีและวิทยุที่เพิ่มขึ้นมา

ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน 31 ภายใต้การบริหารของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) แม้ในส่วนของธุรกิจทีวีจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการอัดคอนเทนต์แม่เหล็กอย่างละคร จนสร้างเรตติ้งของทั้ง 2 ช่องให้แข็งแรงขึ้น โดยช่องวัน 31 สามารถแซงช่อง 8 ขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อป 5 ขณะที่จีเอ็มเอ็ม 25 ที่เรตติ้งยังทรง ๆ อยู่ในอันดับที่ 11-12 แต่ในแง่รายได้รวมลดลง 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ 1,507 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ในส่วนของธุรกิจโฮมช็อปปิ้งและจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีลดลง

เช่นเดียวกับช่องอมรินทร์ 34 ของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่แม้ว่าเรตติ้งจะไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 7 จากการเติมละครช่วงเวลา 22.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่่ผ่านมา แต่ภาพรวมไตรมาส 3 นี้มีรายได้รวม 828.69 ล้านบาท ลดลง 90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนมีการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ทำให้มีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนช่องเนชั่น 22 ของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รายได้จากการขายและบริการช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 318.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้โฆษณาจากธุรกิจทีวีเพิ่มขึ้น ผลของการปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวและรายการ ทำให้เรตติ้งและผู้ชมเพิ่มขึ้น

ปิดท้ายด้วยช่อง 8 (ช่อง 27 เอสดี) ของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 886.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 1.5% จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 13.8 ล้านบาท จากเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้า ขณะที่ธุรกิจทีวีก็แข่งขันกันค่อนข้างแรง ทำให้รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาก็ลดลง

อย่างไรก็ตาม ช่อง 8 ได้ทยอยปรับผังรายการใหม่ด้วยการใส่คอนเทนต์ละครแฟนตาซี รายการลี้ลับ เพื่อแย่งเรตติ้งกลับคืนมา

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจทีวีดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาส 4 ธุรกิจทีวีคงไม่มีอะไรหวือหวา โดยภาพรวมการใช้งบฯโฆษณาช่วง 2 เดือนสุดท้ายก็ไม่คึกคัก แม้สินค้าส่วนใหญ่ยังใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อตามปกติ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายสินค้าที่ยอดขายไม่ดีและตัดสินใจตัดงบฯช่วงปลายปีนี้ลงเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวี และมีหลายรายที่โยกงบฯจากสื่อทีวีไปที่อีเวนต์ และสื่อออนไลน์ เนื่องจากใช้งบฯไม่มาก และสร้างยอดขายได้มากกว่าการโฆษณาทีวี

“จากแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า 2563 ที่ยังไม่ดีขึ้น ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้า ค่าเงินบาทที่ยังเป็นปัญหา จะส่งผลกระทบให้ภาพรวมการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบกับรายได้ของทีวีแต่ละช่องเป็นลูกโซ่” แหล่งข่าวคาดการณ์

ปัจจัยนี้จะทำให้ช่องต่าง ๆ ต้องทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้นจะเรียกว่าต้องเหนื่อยข้ามปีก็คงไม่ผิดนัก