ไทยเบฟฯ เคลื่อนทัพใหญ่ ดัน “เบียร์” เข้าตลาดหุ้น !

เป็นกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงเบียร์บ้านเราและเอเชีย เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังหลายสำนักพร้อมใจกันตีพิมพ์ข่าวทางสื่อออนไลน์ว่า “ไทยเบฟ” บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของไทยและเวียดนาม กำลังจะแยกธุรกิจเบียร์ออกมาเพื่อทำไอพีโอ ทั้ง ๆ ที่

“ไทยเบฟ” ก็เป็นลิสเต็ดคอมปะนีที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดสิงคโปร์อยู่แล้วว่ากันว่า การระดมทุนครั้งนี้อาจมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้คนในแวดวงมีคำถามและมีเสียงวิเคราะห์ตามออกมาอย่างหลากหลายแง่มุม

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศได้อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดในบริษัทไทยเบฟฯระบุว่า ที่ผ่านมา “ไทยเบฟฯ” มีการเข้าไปหารือ พูดคุยกับกลุ่มธนาคาร ทั้งแบงก์ออฟอเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, ดีบีเอส, เอชเอสบีซี และมอร์แกน สแตนลีย์ เพื่อนำหน่วยธุรกิจดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจโรงเบียร์ทั้งในไทยและเวียดนาม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงกลางปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีข่าวนี้ออกมา ทำให้ราคาหุ้นของไทยเบฟ เมื่อช่วงวันที่ 29 พ.ย. 2562 ขยับขึ้น 5.2% จาก 0.86 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 0.905 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงเช้า และเริ่มลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.89 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงบ่าย และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมากถึง 25.3 ล้านหุ้น ทำสถิติสูงเป็นอันดับ 2 ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทำให้ไทยเบฟต้องแจ้งขอหยุดการซื้อขายชั่วคราวในเวลา 13.20 น.

งานนี้ร้อนถึง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ต้องร่อนหนังสือออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในเวลาต่อมา โดยเนื้อใหญ่ใจความของจดหมายฉบับนี้ ไม่ได้ “ปฏิเสธ” ในประเด็นเรื่องการจะเอาเบียร์ออกมาระดมทุนครั้งใหม่ เพียงแต่เน้นย้ำว่า เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่จะมองหาและต้องการสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ

ในสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้มากขึ้น ซึ่งก็มีหลากหลายวิธี ไม่เฉพาะแค่การนำธุรกิจเบียร์แตกออกมาเพื่อระดมทุนในตลาดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพูดคุยหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของไทยเบฟในหลาย ๆ โปรเจ็กต์นั้นยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น (early stage) ที่จะศึกษาและสำรวจเท่านั้น และไม่มีการรับประกัน หรือสร้างความมั่นใจใด ๆ จากบริษัทว่าดีล การซื้อขาย หรือธุรกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง

ล่าสุดหลังจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ เปิดซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค. เปิดตลาดที่ 0.89 ดอลลาร์สิงคโปร์ และระหว่างวันราคาหุ้นแกว่งตัวในกรอบ 0.9-0.910 ดอลลาร์สิงคโปร์ และช่วงปิดตลาดหุ้นไทยเบฟอยู่ที่ระดับ 0.89 ดอลลาร์สิงคโปร์

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการเบียร์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวในการเตรียมตัวเพื่อระดมทุนดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่ผ่านมา ไทยเบฟฯใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อกิจการเบียร์จากซาเบคโก้ ในเวียดนาม และธุรกิจร้านอาหารอีกจำนวนหนึ่งในเมืองไทย ทำให้บริษัทมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง และอาจมีผลต่อการขยายธุรกิจในอนาคต

“จริง ๆ แล้ว ตอนนี้โรงเบียร์ไทยเบฟฯ 3 โรง (กำแพงเพชร บางบาล และวังน้อย) มีกำลังการผลิตรวมกันเกือบ 2,000 ล้านลิตร/ปี แต่ใช้กำลังการผลิตจริง ๆ ไม่เต็มกำลัง ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ามีบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จากสหรัฐ ทาบทามจะซื้อโรงเบียร์ของไทยเบฟฯและใช้ไทยเป็นฐานในการบุกตลาดอาเซียน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า หากตอนนั้นตกลงกันได้ ไทยเบฟฯจะมีรายได้เข้ามาไม่น้อย”

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูงในวงการเบียร์อีกรายยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การที่ไทยเบฟฯต้องการนำธุรกิจเบียร์ออกมาทำไอพีโอ อาจเปิดโอกาสให้เกิดการขยายธุรกิจ การจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเข้ามาถือหุ้น ร่วมทุน ฯลฯ ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ระดับโลกก็ให้ความสนใจ และต้องการเข้ามารุกตลาดเบียร์ในไทย เวียดนาม รวมถึงอาเซียน

ล่าสุด ไทยเบฟฯได้ประกาศผลการดำเนินงานปี 2562 (1 ตุลาคม-30 กันยายน) ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ พบว่าจากยอดขาย 2.67 แสนล้านบาท หรือเติบโต 16.4% และมีกำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 33.0% จากปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจเบียร์ มีสัดส่วน 44.7% หรือ 1.19 แสนล้านบาท ไต่ขึ้นมาเป็นรายได้หลัก หลังจากที่ไทยเบฟฯได้ซื้อกิจการของ SABECO ผู้ผลิตเบียร์อันดับ 1 ในเวียดนาม เมื่อปีที่ผ่านมา ตามด้วยธุรกิจเหล้า มีสัดส่วน 43.0% หรือ 1.15 แสนล้านบาท จากเดิมที่เคยสร้างรายได้ให้กับไทยเบฟฯเกิน 50% มายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ส่วนอีก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอลล์ มีสัดส่วน 6.5% หรือ 1.7 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอาหาร 5.9% หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท

หลังจากบริษัทบรรลุเป้าหมายที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียนได้แล้ว เป้าหมายต่อไป คือ ASEAN+6 หรืออาเซียน 10 ประเทศ+จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้มากขึ้น

จากนี้คงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดเบียร์ปีหน้าเอาไว้ให้ดี