ตลาดเครื่องมือแพทย์โตสวนกระแส จีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐแห่ชิงเค้ก6หมื่นล้าน

แฟ้มภาพ
นโยบายเมดิคอลฮับ สังคมสูงวัย โรงพยาบาลเปิดใหม่เพียบ หนุนตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ 6 หมื่นล้านคึกคักสุด ๆ เผยแนวโน้มโตต่อเนื่อง บริษัทต่างชาติ “จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-สหรัฐ-สวิส” โดดร่วมวง ดาหน้าตั้งบริษัท-ยื่นขอบีโอไอตั้งโรงงานผลิต ผู้ประกอบการมั่นใจปีนี้ตัวเลขโตดับเบิลดิจิต

นางสุนทรี จรรโลงบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นทุก ๆ ปี เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าอีก 5 ปีจากนี้ไปจะมีโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เพิ่มอีก 10-20 โรงทั่วประเทศ ประกอบกับไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มที่ใช้ในบ้านเพิ่มขึ้น เช่น เตียง ไม้เท้า เป็นต้น อีกทั้งนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการส่งออก (medical hub) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยโตสูงขึ้นทุก ๆ ปี หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6%

โตดับเบิลดิจิต-สวนเศรษฐกิจ

นายปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตขึ้นทุกปี และคาดว่าตั้งแต่ปี 2562-2564 ตลาดนี้จะโตเฉลี่ยปีละ 9-10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคอลฮับ และศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของภูมิภาค ขณะที่บีโอไอก็มีนโยบายกระตุ้นการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และมีแนวโน้มการส่งออกค่อนข้างสูง เช่น ถุงมือยาง หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา เป็นต้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา-ค่ารักษา) ที่เพิ่่มขึ้น สะท้อนว่าประเทศไทยจะมีความต้องการในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการเป็นสังคมผู้สูงอายุจะยิ่งทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่งจึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้

“นอกจากภาพของบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามาขอบีโอไอเพื่อตั้งโรงงานในประเทศไทยแล้ว ล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวของบริษัทจากต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่เริ่มทยอยเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย เพื่อเข้ามาตั้งสำนักงานและทำตลาด หาพันธมิตรหรือตัวแทนจำหน่ายในไทย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น”

รายงานข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) ระบุว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2560 มีมูลค่า 62,362 ล้านบาท และปี 2561 เพิ่มเป็น 66,541 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้แล้วหมดไป เช่น หลอดฉีดยา ถุงมือยางตรวจโรค เป็นต้น หลัก ๆ เป็นการนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้แทนจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จดทะเบียนกับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณ 3,000 ราย

ต่างประเทศดาหน้าลงทุน

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนให้ไทยเป็นเมดิคอลฮับ และอุตสาหกรรมกทางการแพทย์ครบวงจร และเป็นหนึ่งใน new S-curve ขณะเดียวกัน กระทรงวสาธารณสุข (สธ.) วางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นปัจจัยสนุบสนุนและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้ 2562 (มกราคม-กันยายน) มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากบีโอไอ 34 โครงการ และในจำนวนนี้เป็นบริษัทจากต่างประเทศ 14-15 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตหลอดแก้วเก็บตัวอย่างเลือด (ออสเตรีย) บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง (จีน) อาทิ เสื้อกาวน์สำหรับผ่าตัด แผ่นรองซับ, บริษัทผลิตถุงมือยางสำหรับตรวจโรค (มาเลเซีย) บริษัทผลิตผ้าพันแผลชนิดมีแผ่นซับ และหมวกผ่าตัด (ไทย สวิตเซอร์แลนด์) บริษัทผลิตหน้ากากกรองอากาศแบบใช้ครั้งเดียว (จีน ไต้หวัน) บริษัทผลิตชิ้นส่วนยางสังเคราะห์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ญี่ปุ่น) บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เกาหลีใต้) บริษัทผลิตอุปกรณ์ตรวจโรคนอนหยุดหายใจขณะหลับ (เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา)

จากช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ที่มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากบีโอไอ 30 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นบริษัทต่างชาติ 9-10 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตเลนส์สายตาเคลือบ (ฝรั่งเศส) บริษัทผลิตคอนแท็กต์เลนส์ (เนเธอร์แลนด์) บริษัทผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียว (ญี่ปุ่น) บริษัทผลิตส่วนประกอบพลาสติกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ฮ่องกง ญี่ปุ่น) บริษัทผลิตสายรัดพลาสติกรีไซเคิล (สวิตเซอร์แลนด์) บริษัทผลิตสายส่งออกซิเจนทางจมูก (ไอซ์แลนด์ จีน สหรัฐอเมริกา) รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วน robot arms (เดนมาร์ก เม็กซิโก)