กำลังซื้อซึมลึกค้าปลีกปี”63 เหนื่อย-รอรัฐกระตุ้นรอบใหม่

 

ค้าปลีกปี”63 ยังเหนื่อยต่อ ปัจจัยลบรุมเร้าเพียบ ทั้งเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าจีน-สหรัฐ การตัดสิทธิพิเศษทางภาษี คาดกระทบส่งออกอิมแพ็กต์เป็นระลอก อีกทั้งปัญหาภัยแล้ง หวั่นหั่นกำลังซื้อต่อเนื่อง รอลุ้นปัจจัยบวกจากรัฐ หวังอัดงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่


นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมค้าปลีกปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.8% จากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมชะลอการเติบโตลง ทำให้การบริโภคภาคค้าปลีก ค้าส่งก็ลดลงตามไปด้วย เพราะกำลังซื้อหายไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตร รวมถึงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ทำให้ยอดขายของสินค้าหลาย ๆ กลุ่มหดตัวลง ทั้งกลุ่มสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำ ในแง่ของกำลังซื้อก็เริ่มลดลง สะท้อนจากยอดขายของสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า เป็นต้น ที่เคยเติบโตเฉลี่ยปีละ 8-12% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็กลับเติบโตเพียง 3.2% เท่านั้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าคงทนถาวร เช่น หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น ก็ไม่เติบโต โดยมียอดขายเท่า ๆ กับปีก่อน เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน อีกทั้งหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ยังไม่ฟื้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวลงต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตยังเป็นหมวดที่เติบโตได้เพราะกลุ่มชนชั้นกลางถึงบนยังมีกำลังซื้อที่ดี เช่นเดียวกับกลุ่มสุขภาพและความงาม ที่แตกเซ็กเมนต์ย่อยก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการเข้ามาของรายใหม่และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปีนี้ สะท้อนภาพชัดเจนว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคทุกกลุ่มกำลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมค้าปลีกข้ามไปปี 2563 ก็ยังมีทั้งความหวังอยู่จาก 4 ปัจจัยบวกจากนโยบายของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันก็ยังมีปัจจัยลบ ซึ่งสมาคมยังต้องกังวลอยู่เช่นกัน

เริ่มด้วยปัจจัยบวกแรก ทั้งนี้ สมาคมคาดว่ารัฐบาลน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ออกมาเร็ว ๆ นี้ เพื่อช่วยบรรเทากำลังซื้อในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน พร้อมเพิ่มศักยภาพการจับจ่ายให้กลุ่มชนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ เช่น โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” โครงการ 100 บาทเที่ยวทั่วไทย เป็นต้น

ตามด้วยการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งล่าช้าออกไป เนื่องจากเพิ่งจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2562 จากปกติที่ปีงบประมาณใหม่จะเริ่มต้นเดือนตุลาคมของทุกปี ทั้งนี้ คาดว่างบประมาณปี 2563 จะผ่านการอนุมัติประมาณเดือนมกราคม 2563 และคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเข้าสู่ระบบประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ปัจจัยที่ 3 คือ นโยบายการเงินและการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ซึ่งยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็เก็บภาษีมาใช้คืนนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ

สุดท้าย คือ ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น สะท้อนจากช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2562) ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจน

ในส่วนปัจจัยลบนั้น แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบต่อคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย รวมถึงการถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์พิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP : gener-alized system of preference) ของสินค้าไทย กระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออก จนอาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ลดกำลังการผลิต ลดกำลังคน การเลิกจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศตามลำดับ

ขณะที่ปัจจัยลบภายในประเทศก็กังวลจากหลาย ๆ ส่วน ทั้งปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าถ้าเกิดภัยแล้งขึ้นในปี 2563 จะทำให้รายได้ทางการเกษตรทรงตัว หรือลดลงเล็กน้อย เฉลี่ยติดลบ 0.5-0.0%

รวมถึงผลกระทบจากปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง

“ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรอบนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างและกินเวลานาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 และคาดว่าจะจบลงในปี 2565 ซึ่งผลที่เกิดขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ผลจากการชะลอตัวเศรษฐกิจรอบนี้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ฟื้นกลับมาได้เร็ว เพราะวิกฤตครั้งนั้นกระทบต่อเจ้าของธุรกิจ กลุ่มชนชั้นบนที่มีสัดส่วนเพียง 30% ของประชากรทั่วประเทศ