หุ่นยนต์ผ่าตัด-เอไอระอุ “โซนี่-ฮิตาชิ” ชิงเค้กเครื่องมือแพทย์

ปี 2563 นี้วงการธุรกิจเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มจะร้อนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากสิทธิบัตรเกี่ยวกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหลายใบที่ถือครองโดย “อินทุยทีฟ เซอร์จิคอล” (intuitive surgical) บริษัทสัญชาติสหรัฐผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายเทคโนโลยี-อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดที่จะทยอยหมดอายุการคุ้มครอง ทำให้ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์รายอื่น ๆ สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าและนำออกขายได้โดยอิสระ


สำนักข่าวนิกเคอิ รายงานถึงแนวโน้มความร้อนแรงในตลาดเครื่องมือแพทย์นี้ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์หลายราย อาทิ โอลิมปัส คาวาซากิ รวมไปถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างโซนี่ และอัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิลต่างแสดงท่าทีสนใจจะใช้โอกาสนี้โดดรวมแข่งขันในวงการเครื่องมือแพทย์

ทั้งนี้ ปัจจุบันเซ็กเมนต์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นมีระบบ “ดาวินชี่” (da Vinci) ของบริษัท อินทุยทีฟ เซอร์จิคอล เป็นผู้นำตลาดเนื่องจากจุดเด่นเรื่องการใช้งานง่ายและการควบคุมระยะไกลที่ปรับแต่งได้ละเอียด โดยนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2542 บริษัทสามารถขายระบบดาวินชี่ไปแล้วกว่า 54 ล้านเครื่อง และเพียงแค่ปี 2561 ปีเดียวระบบนี้มีส่วนในการผ่าตัดมากกว่า 10 ล้านครั้งทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ระบบดาวินชี่ยังมีจุดอ่อนเรื่องราคาที่สูงถึงประมาณ 1.37-2.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 41.5-83 ล้านบาทสำหรับค่าระบบเพียงอย่างเดียว และหากรวมค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์สิ้นเปลืองเข้าไปด้วยจะมีค่าใช้จ่ายอีกปีละไม่น้อยกว่า 9 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 ล้านบาท เช่นเดียวกับการควบคุมซึ่งยังต้องพึ่งมนุษย์ในทุกขั้นตอน

จุดอ่อนด้านราคา การใช้มนุษย์ควบคุม และสิทธิบัตรด้านการออกแบบและระบบควบคุมการเคลื่อนไหวที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้ เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้เล่นรายอื่นทั้งในและนอกวงการหันมาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตตัวหุ่นยนต์และระบบเอไอเพื่อควบคุมหุ่นยนต์แทนมนุษย์

โดย “โอลิมปัส” หนึ่งในผู้ผลิตกล้องดิจิทัลและเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ ได้จับมือกับพันธมิตรหลายราย เช่น ศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ต่อยอดจากโนว์ฮาวด้านกล้องตรวจภายในซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์ของบริษัท หุ่นยนต์นี้จะเป็นแขนกลที่ต่อกับกล้องส่งภายในควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์ในระหว่างผ่าตัด เช่น หาจุดเลือดออกและห้ามเลือด รวมถึงหาตำแหน่งเนื้องอก พร้อมเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาแพทย์ผู้ควบคุมกล้องส่องภายในได้ภายในปี 2567

“มาซาอากิ อิโต้” หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และเทคโนโลยีการผ่าตัด จากโรงพยาบาลของศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น อธิบายว่า ข้อได้เปรียบหลักของเอไอคือการสามารถเข้าถึงข้อมูลการแพทย์จำนวนมหาศาล อาทิ ภาพถ่าย และเทคนิคการผ่าตัด ช่วยให้สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้แม่นยำ เช่น การระบุตำแหน่งเนื้องอกและกระบวนการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงยังสามารถลงมีดได้แม่นยำในแบบเดียวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

ด้าน “คาวาซากิ” จับมือบริษัทด้านเฮลท์แคร์ “ซิสเม็กซ์” (Sysmex) ตั้ง “เมดิก้ารอยด์” (Medicaroid) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับอำนวยความสะดวกในการผ่าตัด โดยมีกำหนดเปิดตัวหุ่นยนต์ภายในเดือน เม.ย. ตามด้วยปัญญาประดิษฐ์ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้

ส่วน “โซนี่” จะใช้โนว์ฮาวด้านเซ็นเซอร์รับภาพ และเอไอจากธุรกิจผลิตกล้องดิจิทัลและหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงไอโบ (Aibo) มาต่อยอด โดยเมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์รายนี้ได้เปิดตัวระบบจัดการภาพจากอุปกรณ์ในห้องผ่าตัด ซึ่งบริษัทหวังจะต่อยอดไปเป็นระบบวิเคราะห์ภาพด้วยเอไอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่าตัดในอนาคต ไปในทิศทางเดียวกับฮิตาชิ ซึ่งเตรียมเปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทโอเปอเรติ้งรูม” (smart operating room) ในปีนี้ มีจุดขายเป็นความสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องผ่าตัดเข้าด้วยกัน และในอนาคตจะเพิ่มเอไอเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลด้วย

สำหรับอัลฟาเบตนั้นกำลังเร่งพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผ่านการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ผู้ผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ ปัจจุบันสามารถสร้างหุ่นยนต์รุ่นต้นแบบได้แล้ว และมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2564

นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ทั่วโลกอีกหลายแห่งต่างเดินหน้าซื้อกิจการบริษัทด้านเอไอและหุ่นยนต์มาเสริมทัพเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันนี้ ไม่ว่าจะเป็นซีเมนส์ เฮลท์แคร์ ซึ่งทุ่มเงิน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการบริษัทผลิตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนเมษายน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ควักเงิน 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการ “อูริส เฮลท์” บริษัทผลิตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องส่งภายในไป จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ค่อนข้าง


ชัดเจนว่าเซ็กเมนต์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและเอไอ จะเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้าฟาดฟันกันในปี 2563 นี้