เกายังไม่ถูกที่คัน! ลดถุงพลาสติก…ฝุ่นตลบ

กลายเป็นประเด็นร้อน วิพากษ์วิจารณ์ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างจริงจัง ที่ดึงฟรีทีวี 7 ช่อง ได้แก่ ไทยพีบีเอส เวิร์คพอยท์ วัน 31 จีเอ็มเอ็ม 25 ช่อง 8 อสมท และ NBT มาร่วมลงนามความร่วมมือ “CENSOR PLASTIC BAGS” เพื่อลดการเผยแพร่ภาพถุงพลาสติกหูหิ้วผ่านหน้าจอทีวีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างภาพจำ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในการลด และงดใช้ถุงพลาสติกอย่างถาวรในอนาคต โดยสิ่งที่แต่ละช่องต้องทำต่อ คือ การตัดภาพถุงพลาสติกออกจากรายการ ละคร และให้ความรู้เกี่ยวกับการลดใช้ถุงพลาสติก

นอกจากจะมีกระแสดราม่าตามมาจนเกลื่อนโซเชียลมีเดียแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีคำถามตามมาในทำนองที่ว่า…การเบลอภาพถุงพลาสติก จะสร้างพฤติกรรมการเลิกใช้ถุงพลาสติกได้จริง?

ขณะที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ออกโรงย้ำว่า การเบลอถุงพลาสติกก็คงไม่ต่างจากการเบลอภาพบุหรี่ สุรา ปืน และแต่ละช่องก็มีเจตนารมณ์ที่ดี ว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลิกใช้ถุงพลาสติก

ADVERTISMENT

เช่นเดียวกับ “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัด ทส. ที่ชี้แจงว่า ความร่วมมือกับทีวีช่องต่าง ๆ เป็นเพียงการขอความร่วมมือกับช่องให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพถุงพลาสติก ส่วนละครก็ขอให้งดถ่ายฉากที่มีการใช้ถุงพลาสติก แต่หากได้ถ่ายทำไปแล้วก็อาจพิจารณาให้ตัดออก แต่ไม่ได้ขอให้ช่องต้องเบลอภาพถุงพลาสติกกลายเป็นคำถามต่อว่า แค่เบลอถุงพลาสติกก็แก้ปัญหาได้ ?

แม้ว่าฟากฝั่งช่องทีวีจะขานรับนโยบายดังกล่าว และไม่เพียงเฉพาะการเบลอภาพถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปเป็นการรณรงค์ให้ลดใช้ถุงพลาสติกในระยะยาว

แหล่งข่าวจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องเอ็มคอท 30 บอกว่า แนวทางหลัก ๆ ที่วางไว้ คือ การรณรงค์ลดเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่องผ่านรายการของช่อง รวมถึงการขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จัดต่าง ๆ ให้ลดการนำเสนอภาพถุงพลาสติก มากกว่าแค่การเบลอภาพถุงพลาสติกบนหน้าจอทีวีเท่านั้น

ADVERTISMENT

ขณะที่แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีให้มุมมองว่า การเบลอ หรือไม่เบลอถุงพลาสติก อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการเบลอถุงพลาสติกก็ไม่การันตีว่าจะสร้างพฤติกรรมการเลิกหรือลดใช้ถุงพลาสติกของผู้ชมในระยะยาวได้ ในทางกลับกันก็เป็นเพิ่มภาระให้แก่บรรดาผู้จัด ผู้ผลิตละคร เนื่องจากความร่วมมือดังกล่าวเพิ่งออกมาเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีก่อน และเริ่มใช้ทันทีในต้นเดือนมกราคมนี้ ทำให้ผู้จัดต้องกลับมาพิจารณาฉากต่าง ๆ ที่ได้ถ่ายทำไปแล้วใหม่

สิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำมากกว่า คือ การรณรงค์ให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงสร้างความรู้การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ มากกว่าการกระตุ้นให้ใช้ถุงผ้า

ADVERTISMENT

หากย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้กรณีการขอความร่วมมือในการเบลอถุงพลาสติกบนหน้าจอทีวี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีเคสการเบลอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน ปริมาณการบริโภคก็ไม่ลดลง สะท้อนจากยอดขายของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ที่เติบโตขึ้นทุกปี

ภาพที่เกิดขึ้นก็ชัดเจนว่า ยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะแทนที่จะเบลอภาพเหล่านี้ เปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงลึก เพื่อสร้างพฤติกรรมที่ดีในระยะยาว

ตัดภาพมาที่บรรดาค้าปลีก 75 บริษัท ที่ประกาศเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ “Everyday Say No To Plastic Bags” ลด ละ เลิก ให้ถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่่ผ่านมา ก็ยังไม่ลงตัวชนิดเต็มร้อย เนื่องจากผู้บริโภคบางรายไม่ได้เตรียมนำถุงมาใส่ของ ทำให้ค้าปลีกบางรายจึงต้องมีถุงพลาสติกสำรองไว้บริการ

หรือบางรายก็ทำถุงพลาสติกชนิดพิเศษที่มีความหนาใช้ได้หลายครั้ง ดีไซน์สีสันสวยงามออกมาขาย บ้างก็มีถุงผ้าต่าง ๆ แขวนไว้ขายในราคาที่แตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า จนทำให้ถูกตีความว่า เป็นการฉวยโอกาสขายของ

สะท้อนจากภาพล้อเลียนที่มีการใช้ของรอบ ๆ ตัวที่มีอยู่มาใส่สินค้าแทนถุงพลาสติก ทั้งถังน้ำ ถุงปุ๋ย กระบุง ฯลฯ จิปาถะ เรียกว่ามีอะไรดัดแปลงเพื่อใส่ของ ใส่สินค้าที่ซื้อจากร้านค้า เรียกยอดไลก์ ยอดแชร์กันอย่างสนุกสนาน

นอกจากกระแสความตื่นตัวลดถุงพลาสติกของกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกแล้ว กระแสรักษ์โลกยังลามไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ล่าสุดกรุงเทพมหานครก็ประกาศให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เป็นเขตปลอดถุงพลาสติกและโฟม และอีกหลายธุรกิจ ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ก็เริ่มกลับมาบูมบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจังมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า การลดการใช้ถุงพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นนั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานถุงพลาสติกอีกจำนวนไม่น้อย ที่ออร์เดอร์หายวับไปกับตาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ประกอบการค้าปลีกประกาศเลิกแจกถุงพลาสติกตามนโยบายของ ทส. ที่ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วกว่าแผนเดิมถึง 2 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ปี 2565 ตอนนี้หลายรายเตรียมปิดโรงงาน และเลิกจ้าง และหากถึงคิวของตลาดสดที่จะต้องเลิกใช้ถุงพลาสติก ปัญหาคงเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

สิ่งสำคัญที่ภาครัฐไม่ควรมองข้ามก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ การรณรงค์อย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างชัดเจน

นี่คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงของการปรับตัว ปรับพฤติกรรม ที่จะต้องใช้เวลา