“เดอะมอลล์” รีแบรนด์ครั้งใหญ่ เป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า

เมื่อแลนด์สเคปของการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกถูกดิสรัปต์อย่างหนัก จากกระแส “ดิจิทัล” ที่เกิดคู่แข่งใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้มาจากรีเทลอีกต่อไป แต่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องมีตึก อาคาร หรือหน้าร้านที่จับต้องได้ มิหนำซ้ำยังเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อป ไลฟ์สไตล์การกินอยู่ของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

1-2 ปีที่ผ่านมา วงการค้าปลีกของไทยตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมาก ภาพของการลงทุนในดิจิทัล การสร้างแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลเพื่อเชื่อมหน้าร้านกับออนไลน์กันอย่างคึกคัก พร้อม ๆ กับทุ่มเม็ดเงินเพื่อปรับปรุงห้าง หรือศูนย์การค้าเดิมให้มีความน่าสนใจ ทั้งบรรยากาศ การตกแต่งการเพิ่มร้านค้าใหม่ ๆ เพื่อดึงคนเข้ามาจับจ่ายและใช้เวลานานขึ้น

ล่าสุดความเคลื่อนไหวที่สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงธุรกิจนี้ก็คือ การเปลี่ยนโลโก้ของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน มาใช้โลโก้ตัวเอ็ม “M” แบบใหม่ แทนของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งสาขาแรก เมื่อ 39 ปีที่แล้ว เป็นการ “รีแบรนด์” ครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ ตั้งแต่เดอะมอลล์เปิดให้บริการสาขาแรก ที่ราชดำริ เมื่อปี 2524ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ได้มีการรีโนเวตพื้นที่ภายในขนานใหญ่ เพื่อเติมแม็กเนตร้านค้า ร้านอาหาร พร้อมกับจัดโซนและการตกแต่งใหม่ ในบรรยากาศโมเดิร์น โปร่ง โล่ง มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไล่ตั้งแต่ชั้น 7 ลงมา ที่เป็นส่วนของโรงหนัง ได้นำแบรนด์ SFX เข้ามาแทนที่ SF Cinema เดิม

ส่วนชั้น 6 ที่ปรับโฉมให้เป็นพื้นที่ของร้านอาหารและแฮงเอาต์ โดยนำเอาแบรนด์ฟู้ดคอร์ต “กูร์เมต์อีต” ร้านสตรีตฟู้ดชื่อดังกว่า 30 ร้าน พร้อมกับมีพื้นที่ของโคเวิร์กกิ้งสเปซ โดยจับมือกับร้าน TooFastTooSleep โดยจะใช้ชื่อ TooFastInfinity แทน ชั้น 5 เป็นโซนร้านอาหาร ที่ตกแต่งภายใต้คอนเซ็ปต์ dining garden มีร้านอาหารเชนดังกว่า 50 ร้าน ขณะที่บริเวณชั้น 4 เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์

จากการสำรวจพื้นที่ภายในเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดปรับปรุงพื้นที่ ชั้น 3 ซึ่งมีสปอร์ตมอลล์ อีกทั้งมีการทยอยปิดพื้นที่บริเวณชั้น 1

และชั้น 2 บางส่วน และสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เตรียมปรับพื้นที่ในส่วนของชั้น 2 ทั้งหมด ตลอดจนอาคารข้าง ๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ ตกแต่งในรูปแบบ glass house คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้

ส่วนด้านการสื่อสารกับผู้บริโภคทั้งของเดอะมอลล์เอง และร้านค้าพันธมิตร ต่างใช้แฮชแท็กการเปิดตัวร้าน และโซนใหม่ต่าง ๆ ว่า #LiveNewLife #TheMallLiveStore #ชีวิตโหมดใหม่สายไหนก็อิน

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแม่ทัพเดอะมอลล์ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามาดิสรัปต์วงการธุรกิจรีเทล ทำให้โลกของการค้าขายไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ทุกคนสามารถซื้อขายกันได้บนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ เชื่อมถึงกันทั่วโลก ห้างสรรพสินค้าจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อดึงให้คนออกจากบ้านมาใช้บริการ

ทิศทางของกลุ่มเดอะมอลล์ จึงจะไม่เป็นเพียงแค่ departmant store อีกต่อไป แต่จะเป็น life store เป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับบริการที่ดี ประสบการณ์ที่ดี โดยเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนและหลากหลายของลูกค้าให้ได้

โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมีการยกเครื่องสาขาเดิม อาทิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, ท่าพระ, บางแค และบางกะปิ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Mall Lifestore, A HappyPlace To Live Life รวมถึงเดอะมอลล์ รามคำแหง ที่ทุบตึกเก่าทิ้ง และสร้างใหม่ในรูปแบบมิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564-2565

พร้อมกับการเดินหน้า 2 โครงการใหม่อย่าง “แบงค็อกมอลล์” ขนาด 1.2 ล้าน ตร.ม. ย่านบางนา ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 และ “ดิ เอ็มสเฟียร์”

บนพื้นที่กว่า 2 แสน ตร.ม. ใจกลางสุขุมวิท คาดว่าจะเสร็จในปี 2565 เช่นกัน และเมื่อรวมกับดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ จะทำให้ย่านนี้เรียกว่า “ดิ เอ็มดิสทริค”

“วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” กรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ได้รีโนเวตตั้งแต่กลางปีก่อน

“ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขี้เบื่อมากขึ้น ทำให้ศูนย์การค้าก็ต้องปรับให้เร็ว หนึ่งในกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ คือ การเพิ่มความถี่การจัดอีเวนต์ เพื่อสร้างประสบการณ์และดึงคนออกมานอกบ้านมากขึ้น เนื่องจากบริษัทเชื่อว่าอีเวนต์ใหม่ก็จะดึงคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริการศูนย์ด้วย

จากนี้ไปการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญของกลุ่มเดอะมอลล์ จะเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ การรีโนเวตสาขา และบิ๊กโปรเจ็กต์ที่จะเดินเครื่องในอีก 2 ปี จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกขนาดไหน…อีกไม่นานรู้กัน