“จาโตมีฟิตเนส” พ่ายโบกมือลา บริษัทแม่ล้มละลาย-ลอยแพสมาชิก/พนักงาน

“จาโตมี ฟิตเนส” ปิดฟ้าแลบ สวนกระแส ทิ้งสมาชิก-พนักงานเคว้ง ตามฟ้องวุ่น เผย 3 ปีหลัง ผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง คาดล้มตามบริษัทแม่ในโปแลนด์ หลังลงทุนผิดพลาด-ตลาดแข่งขันดุทำขาดทุนอ่วม ทยอยขายกิจการในยุโรปตั้งแต่ปี 2553 ก่อนล้มละลายต้นปี 2561 ทำสาขาไทยขาดสภาพคล่องหนัก ไม่มีทุนขยายสาขา

แม้การตื่นตัวเรื่องสุขภาพจะทำให้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคทองของธุรกิจฟิตเนส หรือศูนย์ออกกำลังกาย สะท้อนจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของผู้เล่นแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเชนอย่างฟิตเนส เฟิรส์ท, เวอร์จิ้น แอคทีฟ, เจ็ทส์ ฯลฯ ตลอดจนผู้ประกอบการฟิตเนสรายเล็กรายน้อยที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ

ตั้งแต่ขนาดห้องแถวห้องเดียวไปจนถึงอาคารหลายคูหา ว่ากันว่าวันนี้มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า มีแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่แอบปิดกิจการไป และมีการฟ้องร้องกันตามมา

แอบปิดตัวไปเงียบ ๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ธุรกิจฟิตเนสจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยที่รายใหญ่มีการลงทุนเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรายเล็กเปิดให้บริการเช่นเดียวกัน แต่ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “จาโตมี”

(Jatomi) ฟิตเนส แบรนด์ดังจากประเทศโปแลนด์ ที่มีสาขาในหลายประเทศได้ปิดตัวสาขาในประเทศไทยลงอย่างเงียบ ๆ หลังจากที่เพิ่งขยายสาขาเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยได้ทยอยปิด 2 สาขาที่มีอยู่ เริ่มจากเดือนตุลาคม 2562 ที่ปิดสาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 4 และปิดสาขา บิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานด้วย เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2562

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการฟิตเนสรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปิดตัวลงไปดังกล่าว นอกจากปัญหาของบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้ว การแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง ทั้งในเรื่องของราคาค่าสมาชิกและคลาสออกกำลังกาย เนื่องจากที่ผ่านมามีแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศทยอยเข้ามาเปิดให้บริการจำนวนมาก และมีการทำตลาดอย่างหนักเพื่อสร้างฐานสมาชิกของตัวเอง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การปิดตัวของจาโตมีฯดังกล่าวมีการลอยแพทั้งสมาชิกและพนักงาน และมีการฟ้องร้องตามมาในภายหลัง คล้าย ๆ กับเหตุการณ์การปิดตัวของแคลิฟอร์เนีย ว๊าว ที่เปิดตัวลงเมื่อช่วงปี 2556 ที่ผ่านมาพนักงานจำนวนหนึ่งรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่บริษัทติดค้างในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 และเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัท จาโตมี ฟิตเนส (ประเทศไทย) จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี ให้กับพนักงาน เช่นเดียวกับบิ๊กซี ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าสถานที่ก็ได้ประกาศยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2562 เนื่องจากจาโตมีฯค้างชำระค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมกว่า 3.6 ล้านบาท ก่อนจะประกาศยึดทรัพย์สินในพื้นที่เช่าในวันที่ 15 พ.ย. 2562 เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้

จากการตรวจสอบข้อมูลและผลการดำเนินงานของบริษัท จาโตมี ฟิตเนส (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าจดทะเบียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2557 ด้วยทุนจดทะเบียน 41.7 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ นายไมเคิล เอ็ดวิน เฟ้นตัน และนายเดวิด ฮอดจ์สัน แคนฟิลด์ โดยผลดำเนินงานช่วง 2559-2561 นั้น บริษัทขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2561 มีรายได้รวม 50.6 ล้านบาท ขาดทุน 35.1 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้ 59.3 ล้านบาท ขาดทุน 6.1 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีรายได้รวม 58.8 ล้านบาท ขาดทุน 4.6 ล้านบาท

ล้มตามบริษัทแม่

แหล่งข่าวระดับสูงจากเชนฟิตเนสใหญ่แห่งหนึ่งกล่าววิเคราะห์ถึงการปิดสาขาของจาโตมี ฟิตเนส ในประเทศไทยว่า ปัญหาหลักน่าจะมาจากบริษัทแม่ที่ประเทศโปแลนด์ล้มละลายไปเมื่อปี 2561 ส่งผลให้สาขาในประเทศไทยขาดทิศทางการบริหารที่ชัดเจน และขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถลงทุนขยายสาขาเพิ่มได้ ประกอบกับที่ผ่านมาตลาดฟิตเนสมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง

“ในวงการฟิตเนส จำนวนสาขาถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มจำนวนสมาชิกและสร้างการเติบโต หลังจากที่จาโตมีฯเปิดมาได้ 1-2 ปี จำนวนสมาชิกในสาขาเดิมที่มีอยู่ก็เริ่มอิ่มตัว และเมื่อไม่สามารถขยายสาขาได้ จึงยากที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในธุรกิจฟิตเนส เนื่องจากจาโตมีฯถือเป็นผู้เล่นรายเล็กมีสาขาเพียง 2 แห่ง และน่าจะมีจำนวนสมาชิกที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ถือว่าแตกต่างจากกรณีของแคลิฟิเนีย ว๊าว เมื่อปี 2556 เนื่องจากจาโตมีฯไม่มีการระดมเงินสดด้วยการขายสมาชิกแบบตลอดชีพ รวมถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการผ่องถ่ายเงินทุนออกนอกประเทศ”

สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุว่า บริษัท จาโตมี ฟิตเนส ประเทศโปแลนด์ ประกาศล้มละลายเมื่อเดือนมกราคม 2561 และเริ่มดำเนินการขายธุรกิจและทรัพย์สินที่มีอยู่

โดย “เทรวอ เบรแนน” ประธานกรรมการบริหารชี้แจงว่า สภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โมเดลธุรกิจของบริษัทซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 9 ปีก่อน ไม่สามารถตอบสนองกับผู้บริโภคอีกต่อไป ขณะเดียวกันการแข่งขันราคาและค่าเช่าที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทขาดทุนต่อเนื่อง ในขณะที่นักวิเคราะห์ในต่างประเทศให้ความเห็นว่า การล้มละลายเป็นผลจากการลงทุนผิดพลาด โดยใช้เงินกับค่าเช่าที่และค่าการตลาดมากเกินไป ทำให้มีต้นทุนสูงจนไม่สามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งได้

ภาพรวมตลาดโตต่อเนื่อง

ด้านภาพรวมตลาดฟิตเนสในไทยนั้น นายไมเคิล เดวิด แลมบ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ภูมิภาคเอเชีย ฉายภาพว่า ตลาดยังมีแนวโน้มเติบโต ส่วนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ด้วยแรงหนุนจากกระแสสุขภาพ สภาพสังคมสูงวัย และการเป็นกิจกรรมสันทนาการที่เข้าถึงง่าย ทำให้มีดีมานด์ต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายสาขาและความสำเร็จของผู้เล่นแต่ละราย รวมถึงบริษัทเองที่ในช่วง 2 ปีขยายสาขาได้ถึง 22 แห่ง มีฐานสมาชิกกว่า 2.5 หมื่นคน โดย 2 แห่งล่าสุดมีอัตราสมาชิกมากกว่า 1 คนต่อตารางเมตร และปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 16 สาขา ทั้งใน กทม.และหัวเมืองใหญ่ เพื่อให้มีจำนวนถึง 100 สาขาภายในปี 2566 ตามเป้า

ขณะที่นายมาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโวลูชั่น เวลส์เนสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเชนฟิตเนส ฟิตเนส เฟิรส์ท, โกฟิต และเซเลบริตี้ฟิตเนส กล่าวว่า จะเร่งสปีดการขยายสาขาให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรับมือกับการแข่งขันและรักษาตำแหน่งผู้นำ โดยต้นปี 2563 นี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา แบ่งเป็นแบรนด์โกฟิต 2 สาขา และเซเลบริตี้ฟิตเนส 2 สาขา พร้อมเพิ่ม

จุดขายทั้งด้านราคาเข้าถึงง่าย และโมเดลใหม่ ๆ เสริมกับจุดแข็งเดิมอย่างจำนวนและความหลากหลายของคลาสออกกำลัง รวมถึงจำนวนสาขา 34 สาขาของฟิตเนส เฟิรส์ท ซึ่งสมาชิกสามารถเข้ามาใช้งานรวมกันได้ทั้ง 3 แบรนด์

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันคนหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนการจัดตั้งใหม่ของธุรกิจที่เกี่ยวกับสถานที่ออกกำลังกาย เช่น สปอร์ตคลับ ศูนย์ฟิตเนส บริการแอโรบิก ศูนย์โยคะ ฯลฯ ที่มีแนวโน้มการจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อพิจารณาจำนวนจัดตั้งใหม่ของธุรกิจสถานที่ออกกำลังกายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 139 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็น 2.21%