กระแสเนื้อเทียมเอเชียบูม บริษัทญี่ปุ่นแห่ร่วมวงชิงตลาด

กระแสเนื้อเทียมจากพืชยังแรงไม่หยุด โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ส่อแววจะกลายเป็นสนามรบสำคัญของบรรดาผู้ผลิตรายต่าง ๆ หลังก่อนหน้านี้มีบริษัทสตาร์ตอัพหลายแห่งผุดขึ้นในจีนเพื่อผลิตเนื้อหมูเทียม และผู้เล่นหลักจากอเมริกาอย่าง “บียอนด์มีต” จับมือร้านอาหารในแผ่นดินใหญ่

และล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้แปรรูปเนื้อหลายรายในญี่ปุ่นเริ่มขยับตัว เตรียมเข้าร่วมกระแสนี้ด้วยเช่นกัน นำโดย “เอ็นเอช ฟูดส์” (NH Foods) ผู้แปรรูปและจัดจำหน่ายเนื้อรายใหญ่ของญี่ปุ่น แบรนด์ “นิปปอนแฮม” (Nipponham) ได้ประกาศเข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย

โดย “เอ็นเอช ฟูดส์” เตรียมส่งไส้กรอก แฮม และเนื้อบดที่ผลิตจากถั่วเหลืองลงสู่ตลาดในเดือน มี.ค.นี้ ภายใต้ชื่อ “เนทูมีต” (Natumeat) จำนวน 5 เอสเคยู เช่น แฮมแพ็ก 6 ชิ้น ราคา 217 เยน หรือประมาณ 60 บาท พร้อมเป้ายอดขาย 500 ล้านเยน ในช่วง 12 เดือนแรก

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายอื่นในญี่ปุ่นต่างเริ่มพัฒนาเนื้อเทียมในสูตรของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น “อิโต้ แฮมฟูดส์” (Itoham Foods) เตรียมเปิดตัวเนื้อเทียม 8 เอสเคยู อาทิ “ทงคัสสึ” หรือหมูเทียมชุปแป้งขนมปังทอด วางขายในเดือน ก.พ. ด้านรายใหญ่อีกเจ้าอย่าง “มารุได” (Marudai Food) นั้นมุ่งเพิ่มไลน์อัพเนื้อเทียมให้หลากหลายยิ่งขึ้นหลังวางขายเนื้อเทียมมาตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ บริษัทการเงินสัญชาติสวิส “ยูบีเอส” คาดการณ์ว่า ยอดขายเนื้อเทียมทั่วโลกจะสูงถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 เพิ่มจาก 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2561 ส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้นบริษัทวิจัย “มาร์เกตส์แอนด์มาร์เกตส์” ประเมินว่าจะมีมูลค่าเพิ่มกว่า 3 เท่าจาก 103 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2556 เป็น 308 ล้านเหรียญสหรัฐในสิ้นปี 2566 จากความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน รวมถึงความนิยมไลฟ์สไตล์แบบ

“วีแกน” หรือการไม่กิน-ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมากขึ้น

ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งเริ่มพัฒนาเมนูสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยชูจุดขายเป็นรูปลักษณ์ที่เหมือนกับอาหารเมนูปกติ เช่น “โออิซิก” (Oisix) เปิดตัวซูชิวีแกนหน้าตาเหมือนซูชิธรรมดาแต่วัตถุดิบทั้งหมดมาจากผักอย่างขิง ไชเท้า และหัวหอม หรือร้าน “นิว ดิช เดลิแอนด์คาเฟ่” (nu dish Deli & cafe) ซึ่งมีราเมนและแกงกะหรี่แบบวีแกน ชุดละ 1,000 เยน หรือ 275 บาท

และในปีนี้หลายฝ่ายคาดว่าดีมานด์อาหารวีแกนและมังสวิรัติในญี่ปุ่นจะพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากบรรดานักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาชมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งหลายประเทศเช่น อินเดียมีสัดส่วน

ผู้กินมังสวิรัติถึง 30% ส่วนอังกฤษและไต้หวันมีประมาณ 10% เทียบกับสัดส่วนปกติของนักเที่ยวต่างชาติซึ่งเชื่อว่าจาก 1.5 ล้านคนจะมีผู้กินมังสวิรัติประมาณ 4.8% เท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมแผ่อานิสงส์ให้กับผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเนื้อเทียมจากโปรตีนพืชด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในจีนการแข่งขันทวีความดุเดือดไปอีกขั้น หลัง “อิมพอสซิเบิลฟูดส์” (Impossible Foods) หนึ่งใน 2 รายใหญ่ของสหรัฐ เพิ่มไลน์อัพสินค้าสำหรับเจาะตลาดเอเชียโดยเฉพาะอย่าง “อิมพอสซิเบิล พอร์ก” (Impossible Pork) เนื้อหมูและไส้กรอกหมูจากโปรตีนพืช เพื่อรับกับพฤติกรรมของชาวเอเชียที่บริโภคเนื้อหมูเป็นหลัก ต่างจากประเทศตะวันตกที่นิยมเนื้อวัวและเนื้อไก่

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อหมูรายหลักของโลก และกำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อไข้หวัดหมูแอฟริกา ทำให้ต้องทำลายหมูทิ้งจำนวนมากจนเนื้อหมูขาดตลาด จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้าทำตลาด

“เรเชล คอนราด” โฆษกของอิมพอสซิเบิลฟูดส์ กล่าวว่า บริษัทได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้รองรับเมนูอาหารหลากหลายวัฒนธรรมทั้งโคชเชอร์ของศาสนายูดาและฮาลาลของอิสลาม รวมถึงยังไม่มีกลูเต็นอีกด้วย โดยปัจจุบันเหลือเพียงรอการรับรองจากรัฐบาลจีนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในสหรัฐซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดกระแสนี้ ดูเหมือนว่ากระแสบูมจะเริ่มเข้าสู่ระยะทรงตัวแล้ว ตามการเปิดเผยของ “แคโรล” แฟรนไชซีรายใหญ่ของเบอร์เกอร์คิงที่ระบุว่า ยอดขายอิมพอสซิเบิลวอปเปอร์ลดลงจาก32 ชิ้นมาทรงตัวที่ประมาณ 28 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของยอดขายวอปเปอร์เนื้อวัวที่มียอดขายเฉลี่ย 234 ชิ้นต่อวัน

ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากนี้เอเชียจะกลายเป็นสนามแข่งขันแห่งใหม่ของบรรดาผู้ผลิตเนื้อเทียมจากพืช