ธุรกิจจีน-เอเชียดิ้นฝุ่นตลบ เร่งพลิกตำรารับมือ “ไวรัสอู่ฮั่น”

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หรือไวรัสอู่ฮั่นที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มระบาดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 จนรัฐบาลประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออกจากอู่ฮั่นและอีกหลาย ๆ เมือง รวมถึงการห้ามจัดทัวร์ออกนอกประเทศ

ไวรัสอู่ฮั่นที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งในจีนและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก, สินค้าอุปโภคบริโภค, อุตสาหกรรม, โรงภาพยนตร์, สายการบิน ฯลฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยที่หลายบริษัทเริ่มประกาศใช้มาตรการรับมือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เพิ่มกำลังผลิตและส่งสินค้าให้กับหน่วยงานพื้นที่ งดฉายภาพยนตร์ โดยยอมสูญเสียรายได้เพื่อแลกกับความปลอดภัยของสาธารณชนและพนักงานของตน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ขณะนี้หลายธุรกิจในจีนเริ่มเดินแผนรับมือการระบาดครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าสุขภาพทั้งยา, เครื่องมือวัดไข้, หน้ากากอนามัย ไปจนถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น บริษัท อู่ฮั่น ไกด์ อินฟราเรด ผู้ผลิตอุปกรณ์วัดไข้ ได้บริจาคอุปกรณ์วัดไข้แบบอินฟราเรดรวมมูลค่ากว่า 4 ล้านหยวน ให้กับรัฐบาลมณฑลหูเป่ย์ที่เมืองอู่ฮั่นตั้งอยู่ ส่วน “เทียนจิน ทีอีดีเอ” เร่งเพิ่มกำลังผลิตแผ่นกรองสำหรับหน้ากากอนามัยเพื่อให้เพียงพอกับดีมานด์ ด้านบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ

“ซีหลง ไซแอนท์ทิฟิก” ได้พัฒนาอุปกรณ์วิเคราะห์ไวรัสและมอบให้หน่วยงานสาธารณสุขในหลายพื้นที่แล้วนอกจากนี้ยังมีโรงงานหน้ากากอนามัยบางแห่งตัดสินใจเปิดทำงานช่วงตรุษจีนเพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาด

ขณะเดียวกันด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ทั้งเถาเป่า, เจดี, พิงดัวดัว (Pinduoduo), ซุนหนิง (Suning) ต่างออกมาประกาศมาตรการป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย โดยเปิดให้ผู้ใช้แจ้งเบาะแสเมื่อพบการขึ้นราคาแบบผิดปกติ

ด้านโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากลักษณะของสถานที่ทำให้เสี่ยงเกิดการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ 7 รายใหญ่ในจีนพร้อมใจกันงดฉายภาพยนตร์ทุกเรื่อง ที่เดิมมีกำหนดฉายช่วงตรุษจีน (24-25 ม.ค.) ซึ่งเป็นไฮซีซั่น เพื่อลดโอกาสการระบาดของเชื้อไวรัส

โดย “เหมาหยาน” (Maoyan) เว็บไซต์ขายตั๋วภาพยนตร์รายใหญ่ของจีนคาดว่าการตัดสินใจนี้ อาจมีความเสียหายเชิงธุรกิจถึง 1.4 พันล้านหยวน ซึ่งเป็นการประเมินจากสถิติย้อนหลังของยอดขายตั๋วช่วงตรุษจีนในปีก่อน ๆ เช่น ปี 2562 บ็อกซ์ออฟฟิศจีนมีรายได้ถึง 5.83 พันล้านหยวน เพิ่มจาก 5.77 พันล้านหยวน เมื่อปี 2561 และ 3.42 พันล้านหยวน ในปี 2560

แน่นอนว่า อีกด้านหนึ่งการงดฉายภาพยนตร์ดังกล่าวอาจส่งผลกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จากปกติที่คนมีความกังวลกับโรคระบาดและจะป้องกันตัวเองด้วยการเก็บตัวเองอยู่ในบ้านหรือที่พักอยู่แล้ว

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (SARS) เมื่อปี 2546 ทำให้ค้าปลีกจีนเติบโตลดลง จากเดือนมกราคมที่โต 10% แต่เดือนพฤษภาคมลดลงเหลือเพียง 4.3% และทำให้การเติบโตทั้งปีลดลงเหลือ 8%

ด้านความเคลื่อนไหวของธุรกิจต่าง ๆ ในเอเชีย นอกจากจะเกาะติดสถานการณ์ไวรัสอู่ฮั่นอย่างใกล้ชิดแล้ว ขณะเดียวกันก็เริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางออกนอกประเทศช่วงหยุดยาวตรุษจีน 24-30 มกราคม ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 7 ล้านเที่ยวบิน หรือ 6.3 ล้านคน โดยมีเป้าหมายยอดนิยมคือไทย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

โดย “พีแอนด์จี” ยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีจีนเป็น 1 ใน 2 ตลาดหลักคู่กับสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าความงาม แบรนด์ “เอสเค-ทู” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น “จอห์น โมลเลอร์”

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและปฏิบัติการ กล่าวว่า กำลังจับตาสถานการอย่างใกล้ชิดทั้งด้านผลกระทบต่อพนักงานในจีนและสังคมจีนโดยรวม แม้ยังไม่มีข้อมูลมากพอจะบอกได้ว่าการระบาดของไวรัสพันธุ์ใหม่นี้จะส่งผลต่อแผนลงทุนในอนาคตอย่างไร แต่เหตุการณ์นี้อาจส่งผลไปถึงธุรกิจนอกประเทศจีนด้วย เช่น ผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหลายประเทศ และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างการเติบโตของธุรกิจ จึงต้องจับตาและเตรียมการรับมือ

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มพบผู้ติดเชื้อแล้ว หลายบริษัทเตรียมรับมือดีมานด์สินค้าสุขภาพอย่าง หน้ากากอนามัย ทั้งจากชาวญี่ปุ่นเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งจะเดินทางเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ “ยูนิชาร์ม” ได้เพิ่มกะในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเป็น 3 กะ เพื่อเดินสายการผลิตแบบ 24 ชั่วโมง ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนมกราคม หลังออร์เดอร์จากร้านยาพุ่งขึ้นมากกว่า 10 เท่า ในวันที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก

หลายบริษัทที่มีสำนักงาน-โรงงานในอู่ฮั่นต่างออกมาตรการฉุกเฉินมารับมือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่นกว่า 180 แห่ง เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, อิออน และอื่น ๆ ต่างพยายามดึงตัวพนักงานชาวญี่ปุ่นประมาณ 500-600 คนกลับจากอู่ฮั่น ปิดร้านสาขาในอู่ฮั่นชั่วคราว ห้ามการเดินทางเข้าอู่ฮั่น หรือแนะนำให้พนักงานเก็บตัวอยู่ในที่พัก

ด้าน “ไอเอชเอช เฮลท์แคร์” (IHH Healthcare) ผู้บริหารเชนโรงพยาบาลในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดียและตุรกี ประกาศตั้งทีมรับมือฉุกเฉินในทุกสาขา โดยอาศัยประสบการณ์ครั้งโรคซาร์สระบาด “เควิน โลว์” เอ็มดีของไอเฮชเอช กล่าวว่า เชื่อว่า รพ.สามารถรับมือกับการระบาดครั้งนี้ได้แน่ แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้เช่นกัน

ส่วนในไต้หวัน “ฟ็อกคอน” ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ สั่งให้พนักงานที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น เก็บตัวอยู่ในที่พักและห้ามกลับไปที่จีน

ในส่วนของสายการบิน สายการบิน “สกู๊ต” ระบุว่า ได้เตือนให้ผู้โดยสารในทุกเที่ยวบินจากจีนแจ้งอาการไข้หรือหายใจติดขัดกับเจ้าหน้าที่แล้ว ด้าน “เวียตเจ็ท” นอกจากการป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว ยังเริ่มใช้แผนสำรองโดยโปรโมตจุดหมายปลายทางอื่นในเอเชียเพื่ดชดเชยเที่ยวบินไปจีน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวจากภาคธุรกิจเพื่อรับมือการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น ซึ่งต้องติดตามดูว่าเหตุการณ์นี้จะเดินไปในทิศทางใดและส่งผลกระทบมากแค่ไหน