“เจเอสพี” รุกยา-อาหารเสริม เล็งระดมทุนปั้นโอว์นแบรนด์

“เจเอสพี” มั่นใจตลาดยาโตต่อเนื่อง เผยปัจจัยหนุน-ดีมานด์เพียบ-กฎหมายใหม่เอื้อ เดินหน้าเพิ่มไลน์อัพสินค้า ยาแผนปัจจุบัน-ยาแผนโบราณ-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชูแบรนด์ “สุขภาพโอสถ-อิวิตอน”เป็นหัวหอกบุกตลาดเจาะร้านสะดวกซื้อ-โฮมช็อปปิ้ง-เชนร้านความงาม เปิดเผยระดมทุน 90 ล้านขายหุ้นไอพีโอครึ่งปีหลัง หวังอัพเกรดโรงงานและวิจัยพัฒนายา

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมตลาดยาและทิศทางธุรกิจ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดยามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องด้วยดีมานด์จากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนที่สนใจสุขภาพมากขึ้นตามกระแสสุขภาพและสังคมสูงวัย รวมถึงเทรนด์กัญชาเพื่อการแพทย์ ขณะที่ร้านค้าปลีกความงามหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญและเพิ่มไลน์อัพยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับการนำยาแผนโบราณมาใช้ในโรงพยาบาลทดแทนยาแผนปัจจุบันเห็นได้จากการออกพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 จนปีที่แล้วภาครัฐเป็นหนึ่งในผู้ซื้อยาสมุนไพรรายใหญ่ รวมถึงดีมานด์จากโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการยามาตรฐานสากลในราคาจับต้องได้ง่ายกว่าแหล่งผลิตในประเทศตะวันตก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดยาเติบโตต่อเนื่องโดยยาแผนโบราณมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วกว่าแผนปัจจุบัน

สำหรับบริษัทซึ่งอยู่ในวงการยามานานกว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่ง แห่งแรกที่พระราม 3 ผลิตยาแผนปัจจุบันและเป็นศูนย์วิจัย-พัฒนา อีกแห่งอยู่ที่ลำพูน ผลิตยาแผนโบราณและอาหารเสริม ซึ่งได้มาตรฐาน PIC/S สามารถส่งออกไปยังยุโรปได้ รวมถึงมีพอร์ตฯทะเบียนยาตำรับต่าง ๆ อยู่กว่า 2,000 ทะเบียน และพัฒนาเพิ่มปีละ 100-200 ทะเบียน

ปัจจุบันมีไลน์อัพสินค้าทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ภายใต้แบรนด์ สุขภาพโอสถ,อิวิตอน (Eviton) และอื่น ๆ วางขายในช่องทางต่าง ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ทีวี ช็อปปิ้ง, เชนร้านสินค้าความงามและในโรงพยาบาล มีสัดส่วน 20% ของรายได้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการรับจ้างผลิต-พัฒนายาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาสูตร ผลิต และบิสซิเนสแมตชิ่งเพื่อหาพาร์ตเนอร์ทำการตลาดและช่องทางขาย มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งรายได้ 80% จนปัจจุบันอยู่ในระดับท็อป 3 ของโรงงานผู้รับผลิตยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทย

จากนี้ไปจะต่อยอดทรัพยากรและโนว์ฮาวที่มีเพื่อชิงดีมานด์ในช่วงตลาดขาขึ้น โดยมุ่งพัฒนาสินค้าโอว์นแบรนด์ (own brand) ด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ อาศัยโอกาสจาก พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี 2562 ซึ่งเปิดให้ผลิตยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ได้, การพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ตามเทรนด์ในประเทศ, พัฒนาโปรตีนจากพืชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ

สำหรับยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามกระแสนิยมโปรตีนจากแหล่งอื่นมาทดแทนเนื้อสัตว์ที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดยเริ่มการวิจัยแล้วคาดว่าจะสามารถเปิดเผยผลได้ในปีนี้

“เราจะอาศัยจุดแข็งของการมีโนว์ฮาวสินค้าทั้ง 3 แบบ คือ ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสามารถนำมามิกซ์แอนด์แมตช์กันเพื่อสร้างสินค้าใหม่ ๆ ออกมาได้หลากหลายและรวดเร็ว เน้นใช้วัตถุดิบในประเทศอย่างข้าวออร์แกนิกพันธุ์ต่าง ๆ ขมิ้น กระเทียม ช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอินเตอร์แบรนด์ และย้ำภาพความเป็นไทยซึ่งผู้บริโภคต่างประเทศให้ความเชื่อถือ ทั้งยังมีซัพพลายต่อเนื่อง สามารถตอบโจทย์ดีมานด์ของร้านค้าปลีกความงาม และสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งต้องการสินค้าหลากหลาย”

นายสิทธิชัยย้ำว่า ปัจจุบันธุรกิจโออีเอ็มของบริษัทมีขนาดใหญ่มากจนติดท็อป 3 ของไทย ขณะที่สินค้าโอว์นแบรนด์ยังมีขนาดเล็ก มียอดขายไม่ถึง100 ล้านบาท

ดังนั้น สินค้ากลุ่มนี้ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก และปีนี้บริษัทได้เพิ่มพอร์ตฯยาแผนปัจจุบันสำหรับขายในโรงพยาบาลด้วย

ด้านกัญชาเพื่อการแพทย์บริษัทอยู่ระหว่างรอใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าจะได้รับในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ หลังจับมือกับสถานศึกษาแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเตรียมจะระดมทุนขายหุ้นไอพีโอในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อระดมทุนประมาณ 80-90 ล้านบาท มาเป็นทุนอัพเกรดโรงงาน และวิจัยพัฒนายารวมถึงปั้นสินค้าโอว์นแบรนด์ตามเป้าบาลานซ์พอร์ตรายได้ให้สินค้าโอว์นแบรนด์ขยับจาก 20% เป็น 50% โดยโรงงานที่ลำพูนยังมีพื้นที่พอขยายได้อีก 3 เท่า

ซึ่งธุรกิจโรงงานผลิตยานี้เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถรุกตลาดต่างประเทศได้ เพราะต้องลงทุนวิจัยพัฒนายาเพื่อสร้างนวัตกรรม และยา 1 ตัวอาจต้องรอขึ้นทะเบียนนานถึง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าการเติบโตปี 2563 ในระดับ 2 ดิจิต และรายได้สินค้าโอว์นแบรนด์เพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2566 จากกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าหลังปรับปรุงโรงงานครั้งก่อนที่อัพเกรดเป็นมาตรฐาน PIC/S ทำให้สามารถรับออร์เดอร์ส่งออกได้ และทำให้ได้อีโคโนมีออฟสเกลดีขึ้น