
“เรฟรันเนอร์” มั่นใจปีนี้รองเท้าวิ่งคึกแต่ต้นปี เหตุแบรนด์เร่งเปิดตัวรับโอลิมปิกตามกฎใหม่ ด้านบริษัทเตรียมเปิดแบรนด์รองเท้าวิ่งถนนเสริมพอร์ตเดือน มี.ค. ชูจุดขายราคาจับต้องง่าย ก่อนลุยปักธงสาขาเชียงใหม่-ขอนแก่น ไตรมาส 3 และอัพเกรดทีมอีคอมเมิร์ซรับดีมานด์ภูธรแรง พร้อมเดินสายจัดทดลองสินค้าในงานวิ่ง เจรจาบัตรเครดิตจัดผ่อน 0% รับมือกำลังซื้อ มั่นใจยอดขายโต 20%
นายพรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปอร์ต รีโวลูชั่น จำกัด ผู้บริหารเชนร้านสินค้าวิ่ง “เรฟรันเนอร์” และผู้นำเข้าสินค้าหลายแบรนด์ อาทิ โฮก้าโอเน่โอเน่, แชมป์เปี้ยน และอื่น ๆ ฉายภาพตลาดสินค้าวิ่งในปี 2563 นี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 3-4 เดือนแรกนี้เซ็กเมนต์รองเท้าวิ่งมีแนวโน้มจะคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากกฎใหม่ของสมาพันธ์กรีฑานานาชาติบังคับให้รองเท้าที่จะใช้ในการแข่งต้องวางขายทั่วไปล่วงหน้าอย่างน้อย 4 เดือน ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องเร่งเปิดตัว-วางขายรองเท้ารุ่นใหม่ไม่เกินเดือนเมษายนนี้เพื่อให้ทันการแข่งโอลิมปิก 2020 ขณะเดียวกันมหกรรมกีฬานี้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่แต่ละแบรนด์นำมาประชันกันยังช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค สะท้อนจากเมื่อ 4 ปี ก่อนยอดขายสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการระดับสูงของ กทม. พ้นจากตำแหน่ง 2 ราย
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.5 ล้านคน ได้สิทธิลอตแรก รับเงินกี่บาท เช็กที่นี่
ส่วนกลุ่มแอ็กเซสซอรี่และเสื้อผ้า เช่น อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บ, ไฟฉาย, เป้น้ำ, เอ็นเนอร์จี้เจล และอื่น ๆ จะมีหลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อรับกระแสการวิ่งระยะไกล หรือการวิ่งเทรล ซึ่งเป็นการวิ่งผ่านภูมิประเทศ หรืออัลตรามาราธอนที่มีระยะทาง 50-100 กิโลเมตร
นายพรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ตลาดต่างจังหวัดเป็นเซ็กเมนต์ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น และมีการหาข้อมูลสินค้าไม่ต่างจากคนเมือง โดยเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 30 ปี นิยมรองเท้าราคา 3,000 บาทขึ้นไป รวมถึงเริ่มซื้อหาอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ทำให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกหันมาจับเซ็กเมนต์นี้กันมากขึ้น
ขณะเดียวกันราคาสินค้าทั้งรองเท้าและแอ็กเซสซอรี่ยังมีแนวโน้มลดลง หลังแบรนด์สินค้าพยายามลอนช์สินค้ารุ่นราคาจับต้องง่ายเพื่อขยายฐานลูกค้าต่างจังหวัด เห็นได้จากยอดขายผ่านออนไลน์ของบริษัทซึ่งมีลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 หลังปรับลดราคาสินค้าลงเฉลี่ย 15%
“เดิมราคารองเท้าวิ่งในไทยแพงกว่าอเมริกาถึง 20% แต่ปัจจุบันลดลงมาจนเกือบเท่ากัน และบางรุ่นราคาถูกกว่าแล้ว ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายและลดปัญหาสินค้าเกรย์มาร์เก็ต-สินค้าปลอมไปได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดยังคงเน้น 3 เรื่องคือเทคโนโลยี, ประสิทธิภาพ และราคา ส่วนปัจจัยลบต่าง ๆ อาทิ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทำให้นักวิ่งกังวลและพักการวิ่งหรือหันไปวิ่งในร่ม แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับไวรัสอู่ฮั่นซึ่งไม่ค่อยส่งผลนักเนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของธุรกิจนี้เป็นชาวไทย”
นายพรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริษัทในปีนี้จะมุ่งทำตลาดสินค้าวิ่งเป็นหลักเพื่อรับกระแสการเติบโต โดยเดือนมีนาคมเตรียมเปิดตัวแบรนด์รองเท้าวิ่ง “สโคนี่” (Saucony) ที่มีจุดเด่นด้านรองเท้าสำหรับวิ่งบนถนน และราคาจับต้องได้เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาท รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นแบรนด์ที่วางตลาดรองเท้าที่มีแผ่นคาร์บอนเป็นรายที่ 3 ต่อจากไนกี้และโฮก้าฯ โดยจะวางขายในร้านมัลติแบรนด์และเรฟรันเนอร์เพื่อเติมพอร์ตให้ครอบคลุมดีมานด์ได้กว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มแอ็กเซสซอรี่ด้านป้องกันการบาดเจ็บให้หลากหลายขึ้น สอดรับกับเทรนด์การวิ่งระยะไกลและความสนใจด้านป้องกันการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการขยายสาขาจะมุ่งทำเลห้างสรรพสินค้าในจังหวัดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่และขอนแก่น คาดว่าจะสามารถเปิดสาขาได้ในไตรมาส 3 จากปัจจุบันมี 22 สาขา พร้อมเล็งขยายพื้นที่สาขาเดิมหลังหมดอายุสัญญาเช่ารองรับไลน์อัพสินค้าที่หลากหลายขึ้นอีกด้วย รวมถึงอัพเกรดอีคอมเมิร์ซให้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนทีมงานดูแล-พัฒนา ทั้งนี้เป็นไปตามแผนรับดีมานด์ในต่างจังหวัดที่กำลังเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้เดินหน้าเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เช่น การสกรีนเสื้อ ปัจจุบันทดลองสาขาแรกที่สปอร์ตมอลล์ สยามพารากอน โดยมีความร่วมมือกับศูนย์ หากเป็นสินค้าของร้านหรือซื้อภายในศูนย์จะสามารถมาสกรีนได้ฟรี ซึ่งได้รับการตอบรับดี ทำให้จากนี้จะเน้นขยายในร้านสาขาที่ตั้งอยู่ในสปอร์ตมอลล์เป็นหลัก
ด้านการตลาดจะอาศัยความนิยมในกิจกรรมวิ่ง เข้าเป็นสปอนเซอร์หรือออกบูทในงานวิ่งต่าง ๆ คัดเฉพาะงานสัมพันธ์กับไลน์อัพแบรนด์ในพอร์ตประมาณ 8 งาน เพิ่มจาก 4 งานในปีที่แล้ว รวมถึงงาน ULTRA-TRAIL NAN100 ที่บริษัทเป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการในปี 2562-2564 พร้อมนำสินค้าจากแบรนด์ที่เหมาะกับงานนั้น ๆ เช่น วิ่งบนถนน หรือวิ่งเทรลแบบครบทุกไซซ์ไปให้นักวิ่งได้ลองใส่ เพื่อสร้างการรับรู้และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
นอกจากนี้ยังเตรียมรับมือสภาพกำลังซื้อที่อาจท้าทายขึ้นในปีนี้ด้วยการเดินสายเจรจากับบัตรเครดิตต่าง ๆ จัดโปรโมชั่นผ่อน 0% เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่มีแผนจัดโปรโมชั่นลดราคาเพิ่มเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ปรับลดราคาสินค้าประมาณ 15% ไปในปีที่แล้ว
“จากแนวทางดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยให้ยอดขายของร้านเรฟรันเนอร์ปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 20% ต่อเนื่องจากการเติบโต 10-15% ในปี 2562 เป็นประมาณ 1,000 ล้านบาท” นายพรศักดิ์ย้ำในตอนท้าย