“ไทยเบฟ” ตั้ง 6 บริษัทย่อยเสริมทัพ รุกลงทุนเทรดดิ้งเมียนมาเพิ่ม

ไทยเบฟ

“ไทยเบฟ” กวาดยอดขายไตรมาสแรก 7.5 หมื่นล้าน กำไรอีกเกือบ 1 หมื่นล้าน หลังปัจจัยในประเทศหนุน “เหล้า-เบียร์” ดีดรับหน้าขายปลายปี สวนทางยอดต่างประเทศวูบ 11% เร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างอีกระลอก ตั้ง 6 บริษัทย่อย โฮลดิ้งลงทุนในไทย-สิงคโปร์ ก่อนเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเทรดดิ้งในเมียนมา หวังเพิ่มน้ำหนักรุกตลาด

รายงานจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 62) ไทยเบฟมีรายได้ 75,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิ 9,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2%

โดยไฮไลต์สำคัญของการดำเนินงานในไตรมาสนี้ก็คือ การเติบโตของยอดขายภายในประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงทั้งธุรกิจเหล้าที่เพิ่มขึ้น 7% เบียร์เพิ่มขึ้น 13.5% และเครื่องดื่มอนแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.9%

ขณะที่ยอดขายต่างประเทศลดลง 11% เนื่องจากยอดขายที่หดตัวลงทั้งในธุรกิจเหล้า จากรายได้ของบริษัท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ในเมียนมา ที่ชะลอตัวลง และธุรกิจเบียร์ จากรายได้ของซาเบโก้ (Sabeco) ในเวียดนามที่ลดลง พร้อมกับการชะลอตัวของธุรกิจในประเทศกลุ่มอาเซียนบางประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายได้จากธุรกิจเหล้าทั้งในและต่างประเทศ จะพบว่าไทยเบฟมียอดขายรวมอยู่ที่ 34,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 7,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 23.6%

ส่วนธุรกิจเบียร์มียอดขายรวม (ทั้งไทยเบฟและซาเบโก้) อยู่ที่ 33,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 796 เพิ่มขึ้น 158.4% เป็นผลมาจากการบริหาร EBITDA หรือกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายที่ลดลง จากค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำโปรโมชั่นที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ มียอดขายอยู่ที่ 4,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% และพลิกกลับมามีกำไรได้ 125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขาดทุน 250 ล้านบาท

ด้านของธุรกิจอาหาร มียอดขายอยู่ที่ 3,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% มีกำไรสุทธิ 145 ล้านบาท ลดลง 17.1% เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการทำโปรโมชั่นมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเบฟยังอยู่ระหว่างการ “ปรับโครงสร้าง” ภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ในการบริหารธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเบียร์ และการบริหารจัดการของทั้งเครือ โดยการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่อีก 6 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานในสิงคโปร์ 5 บริษัท อาทิ บริษัท สยาม บริวเวอรี่ส์ จำกัด บริษัท เอเชีย บริวเวอรี่ส์ จำกัด บริษัท ไทย บริวเวอรี่ส์ จำกัด บริษัท เบียร์ ซูเปอร์ แบรนด์ส์ จำกัด และบริษัท อินเทอร์เบฟ (สิงคโปร์) 2019 จำกัด และบริษัทที่ดำเนินงานในไทยอีก 1 บริษัท คือ บริษัท ช้าง โฮลดิ้ง จำกัด

ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในบริษัทเทรดดิ้งสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมียนมา เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยการให้บริษัทย่อยในเครือ “อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ โฮลดิ้ง” ที่สิงคโปร์ เข้าไปถือหุ้น 35% ในบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจส์ เทรดดิ้ง จำกัด (IBTC) เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจในเมียนมาให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เสริมกับการดำเนินงานของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป ที่มีทั้งโรงงานผลิตเหล้าและซัพพลายเชน เน็ตเวิร์กในการกระจายสินค้ากว่า 1.3 พันแห่งในร้านค้าส่ง และกว่า 2 หมื่นแห่งในร้านค้าปลีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ไทยเบฟยังมีกระแสข่าวการแยกธุรกิจเบียร์ในไทยและเวียดนาม ออกมาระดมทุนผ่านการทำไอพีโอ ซึ่งในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ไทยเบฟเองก็ไม่ได้ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยส่งหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจที่จะมองหาและสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ โดยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ สร้างมูลค่าให้มากขึ้น ซึ่งมีหลากหลายวิธี อย่างไรก็ตาม การพูดคุยถึงการนำธุรกิจดังกล่าวเข้าตลาดหุ้นนั้น ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น (early stage) เท่านั้น ไม่มีการรับประกันว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ ไทยเบฟได้มองโอกาสการเติบโตทางธุรกิจจากตลาดต่างประเทศอย่างชัดเจน ผ่านวิสัยทัศน์ 2025 ที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ประกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า จะโฟกัสการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ที่มีจีดีพีเติบโต 7.4% กัมพูชา 7.2% ลาว 7.1% เวียดนาม 6.2% และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ASEAN+6 หรืออาเซียน 10