“ซีพีแรม” ก้าวอีกสเต็ป เปิดเกมรุก “อาหารผู้สูงอายุ-เด็ก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจในวันนี้มีความท้าทายมากขึ้นทุกขณะ นอกจากการแข่งขันและภาวะเศรษฐกิจที่เป็นตัวแปรหลักแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นแรงกดดันอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน ที่วันนี้มีคู่แข่งและมีทางเลือกที่มากมาย ทำให้ “ซีพีแรม” ที่แม้จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารพร้อมทานรายใหญ่ แต่ก็เร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้คู่แข่งเข้ามาดิสรัปต์ได้

“วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการลงพื้นที่ ทำโครงการ “ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” ด้วยการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงลูกปูม้า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ท้องทะเลในพื้นที่เกาะเสร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าและสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และเป็นการสร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทย

แม่ทัพใหญ่ซีพีแรมเริ่มต้นการสนทนาว่า ปัจจุบันจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ทำให้อาหารพร้อมทานประเภทต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกและรวดเร็วได้ และส่งผลให้ภาพรวมตลาดอาหารพร้อมประทาน หรือที่เรียกว่าข้าวกล่องเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 10% และคาดว่าตลาดนี้จะโตขึ้นทุก ๆ ปี

เช่นเดียวกับซีพีแรม ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานที่หลากหลาย มีทั้งอาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี่มากกว่า 1,000 เอสเคยู ซึ่งสามารถช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2562 ที่ผ่านมา เติบโตขึ้น 10% หรือมีรายได้ 19,922 ล้านบาท

ถือว่าใกล้เคียงจากปี 2561 ที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 18,000 ล้านบาท โดยมีเมนูขายดีหลัก ๆ ได้แก่ ข้าวกะเพราหมู ข้าวกะเพราไก่ ข้าวผัดปู และผัดซีอิ๊วหมู อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่จะต้องเร่งปรับตัว และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีหลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น

พร้อมกันนี้ “วิเศษ” ยังกล่าวถึงกลยุทธ์และทิศทางของซีพีแรมในปีนี้ว่า หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ให้หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน ชูจุดเด่นเรื่องความสด ใหม่ อร่อย โดยมีแผนจะเพิ่มเมนูอาหารอีกประมาณ 70-75% ตามด้วยกลุ่มอาหาร local product หรืออาหารท้องถิ่น เพิ่มขึ้น 25-30% เช่น อาหารประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมนูลาบหมูและก๋วยจั๊บญวน หรือภาคเหนือ มีเมนูข้าวผัดผักเชียงดา หรืออาหารประจำภาคใต้ เมนูข้าวผัดใบเหลียงผัดไข่ และข้าวไก่ผัดพริกแกงใต้ เป็นต้น

“จะว่าไปแล้วการออกเมนูต่าง ๆ ขึ้นมาดังกล่าว เราไม่ได้เข้าไปแข่งกับอาหารพื้นเมือง เพราะถึงอย่างไรอาหารพื้นเมืองก็มีความหลากหลายกว่า แต่การที่ซีพีแรมทำอาหารประจำภาคขึ้นมา ก็เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในเวลาดึก ช่วงที่ร้านค้าต่าง ๆ ปิดแล้ว”

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมจะใช้งบฯ 1% ของยอดขาย หรือประมาณ 120-200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับองค์กร ซีพีแรม 4.0 และให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารมีความหลากหลาย รวมถึงการนำเทคโนโลยี การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตในโรงงาน

ที่สำคัญ จากนี้ไป ซีพีแรมจะเน้นกลยุทธ์เพอร์ซันนอลไลซ์ ที่ลงลึกและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ได้แก่ อาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เมนูข้าวต้ม ชูจุดเด่น คือ เคี้ยวแหลกง่าย ดูดซึมได้ดี ได้เริ่มวางขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเมื่อปลายปีืีผ่านมา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจะพิจารณาทั้งความต้องการของสินค้า และช่องทางจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุม

และอีกด้านหนึ่งก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มเด็ก อาทิ เมนูเบบี้ฟู้ด เจาะกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ รวมถึงอาหารสำหรับผู้ป่วย หรือมีโรคประจำตัว ที่ต้องการอาหารพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องการอาหารที่หวานน้อย เป็นต้น รวมทั้งมีแผนจะพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด

ส่วนในแง่ของการผลิต ปัจจุบันซีพีแรมได้ขยายโรงงานไปในภูมิภาคมากขึ้น โดยมีโรงงานทั้งหมด 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานที่กรุงเทพฯ ลำพูน ขอนแก่น ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี ซึ่งทำให้สามารถรองรับความต้องการและกระจายไปถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว แต่ละแห่งสามารถผลิตได้ทั้งอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น

พร้อมกันนี้ มีแผนจะขยายช่องทางออกไปยังตลาดใหม่ ๆ อาทิ ร้านอาหาร และภัตตาคาร ตลอดจนช่องทางจำหน่ายแบบตู้กดในคอนโดมิเนียม เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกและมีพื้นที่ปรุงอาหารจำกัด

“ปีนี้เราตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายไว้ประมาณ 15% หรือมียอดขายประมาณ 22,570 ล้านบาท โดยหลัก ๆ จะมาจากกลุุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน ประมาณ 60% และอีก 40% มาจากเบเกอรี่ และเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเมนูเฉพาะกลุ่มหรือเมนูใหม่ ๆ จะทำให้สามารถสร้างยอดขายเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”