กลเกม…‘หมอเสริฐ’ ไล่ล่าหวัง ‘ฮุบ’ รพ.บำรุงราษฎร์

สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงธุรกิจอีกครั้ง สำหรับความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ภายใต้การนำทัพของ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีอันดับ 7 ของเมืองไทย

ที่อาศัยจังหวะตลาดหุ้นไทยกำลังถูกพิษไวรัสโควิด-19 กระหน่ำอย่างหนัก ดัชนีหายวับไปกับตามากกว่า 140 จุด ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบำรงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ของกลุ่มตระกูลโสภณพนิช โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ก่อนตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ควัก 8.56 หมื่นล้านซื้อหุ้น BH

ทั้งนี้ บีดีเอ็มเอส ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของบริษัทที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว มีความสามารถในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนสูง มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ และเป็นที่รู้จักของคนไข้ชาวไทยและต่างชาติ

เป็นการแสดงความจำนงและต้องจะถือหุ้นบำรุงราษฎร์เพิ่ม จากเดิมบีดีเอ็มเอสถือหุ้นบำรุงราษฎร์อยู่ 24.99% โดยทำคำเสนอซื้อทั้งหุ้นสามัญ 546,328,351 หุ้น หรือ 74.83% หุ้นบุริมสิทธิ 1,210,865 หุ้น หรือ 0.17% และหุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมด

โดยจะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดในราคาหุ้นละ 125 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8.56 หมื่นล้านบาท

ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการ ราคาหุ้น BH วิ่งสวนทางดัชนีตลาดหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 130.5 บาท จากที่ปิดตลาดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ 112 บาท และปิดตลาด (27 กุมภาพันธ์) ที่ราคา 130 บาท

ขณะที่หุ้น BDMS ก็ขยับตัวมาอยู่ที่ระดับ 22.40 บาท จากช่วงปิดตลาดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปิดที่ราคา 21.90 บาท และราคายังวิ่งต่อเนื่องจนปิดตลาด (27 กุมภาพันธ์) ที่ระดับ 23.20 บาท วันถัดมา แม้ตลาดจะยังไหลลง แต่ราคาทั้งหุ้น BH และหุ้น BDMS อยู่ที่ระดับ 126 บาท และ 22.20 บาทตามลำดับ (ปิดตลาดเที่ยง)

โอกาสขึ้นอยู่กับรายย่อย

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวนี้ว่า การทำคำเสนอซื้อดังกล่าวกลุ่ม รพ.กรุงเทพเป็นการอาศัยจังหวะช่วงที่ตลาดหุ้นลง เพื่อที่จะได้ตั้งราคารับซื้อไม่สูง และมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม รพ.กรุงเทพจะซื้อหุ้นได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ถืออยู่ 24.99% เพราะตอนนี้
นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการถือเงินสด และราคา 125 บาทก็เป็นราคาที่จูงใจ วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) เมื่อราคาวิ่งขึ้นนักลงทุนก็พร้อมจะเทขายออกมา

แหล่งข่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาการเดินหน้าขยายธุรกิจของกลุ่ม รพ.กรุงเทพ จะเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยวิธีซื้อกิจการทั้งการเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% เพื่อจะได้เข้ามามีส่วนบริหาร หรือเข้าไปถือประมาณ 20-30% เพื่อที่จะได้สิทธิในการนั่งเป็นกรรมการและรับเงินปันผล การไล่ซื้อกิจการมีทั้งแบบเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร อย่างกรณีการเข้าไปถือหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ที่ถูกกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อต้านและไม่สามารถเข้าไปนั่งบริหารงานได้

หากพิจารณาสัดส่วนการถือหุุ้นในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ปัจจุบันนอกจาก BDMS ถือหุ้นอยู่ 24.99% รองลงไปกลุ่มกรุงเทพประกันภัย และตระกูลโสภณพนิช ถือหุ้นราว 20.87% ส่วนที่เหลือเป็นสถาบันและนักลงทุนต่างชาติประมาณ 40% และรายย่อยประมาณ 14%

“กลุ่มหมอเสริฐจะซื้อหุ้นเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน คงพูดยาก หลัก ๆ น่าจะซื้อจากรายย่อย แต่กลุ่มโสภณพนิช คงไม่ขาย ตรงนี้ก็คงต้องสู้กัน”

สอดคล้องกับความเห็นของ นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การประกาศซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์ของกลุ่ม รพ.กรุงเทพ เป็นการลงทุนในช่วงที่มูลค่า (valuation) ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ หรือต่ำกว่าพื้นฐานของบริษัท และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาหุ้นทั้ง 2 รพ.ปรับตัวลดลง หากมีการลงทุนเพิ่มที่เกินกว่า 25% ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น (การทำเทนเดอร์)

“เชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้กลุ่ม รพ.กรุงเทพไม่ได้ต้องการที่นั่งเพิ่มในคณะกรรมการบริษัท แต่ต้องการได้สัดส่วนหุ้นบำรุงราษฎร์เพิ่มจากนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มโสภณพณิช ผู้ถือหุ้นใหญ่มีแนวโน้มจะไม่ขาย”

“บำรุงราษฎร์” เคลื่อนไหวต้าน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของบำรุงราษฎร์หลังตลาดปิดทำการซื้อขายเมื่อเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นางลินดา
ลีสหะปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยชี้แจงว่า ผู้บริหาร บำรุงราษฎร์ ไม่เคยทราบเรื่องการทำคำเสนอซื้อนี้มาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทต่างดำเนินธุรกิจอย่างอิสระต่อกัน และทั้ง 2 กลุ่มโรงพยาบาลดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกันและต่างก็เป็นผู้นำในธุรกิจด้านการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการบริการทางการแพทย์ตติยภูมิให้กับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง

นอกจากนี้ บริษัทยังจะขอเข้าเรียนปรึกษาจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อชี้แจงถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจด้านการแพทย์ในปัจจุบันและขอความชัดเจนในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักดังกล่าว

ด้าน นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า กรณีของโรงพยาบาลกรุงเทพและบำรุงราษฎร์ที่เกิดขึ้น หากจะมีการควบรวมกิจการจะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค.ก่อนตามหลักการในมาตรา 51 พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่าหากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และมีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ต้องการรวมธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กขค.ก่อน โดย กขค.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาและจะพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน

นี่เป็นการเปิดเกมรุกของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยม “ทางอ้อม”
อีกด้านหนึ่งก็เป็นการย้ำภาพความเป็นผู้นำตลาดโรงพยาบาลเอกชนที่ล่าสุด (ปี 2562) มีรายได้รวมมากกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท จากจำนวนโรงพยาบาลในเครือข่ายเฉียด ๆ 50 โรง จาก 4 แบรนด์ คือ กรุงเทพ สมิติเวช พญาไท และเปาโล

วันนี้ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 80% และมีมาร์เก็ตแคปเฉียด 4 แสนล้านบาท

จะว่าไปแล้ว เกมนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ อย่างน้อยต้องผ่านด่าน “โสภณพนิช” ให้ได้ก่อน