ช็อปออนไลน์-ฟู้ดดีลิเวอรี่พุ่ง ปั๊มแคมเปญรับคนหนีโควิด

โควิด-19 ไม่ระคายผิว “ฟู้ดดีลิเวอรี่-ช็อปออนไลน์” โตพรวด เบรกเที่ยวนอก-คนอยู่บ้านมากขึ้น แกร็บฟู้ดโต 3 เท่า GET ขยายพื้นที่บริการเดินส่ง รับอานิสงส์ PM 2.5-โควิด ฟาก LINE MAN โหมโปรโมชั่น “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” เผยยอดรูดในห้างวูบ แต่ช็อปออนไลน์โต 25% แกร็บดีลิเวอรี่โต 10% ต่อวัน “เคทีซี” ลุ้นออนไลน์โต 40% เท่าปีที่แล้ว

แม้สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยลบกับหลายธุรกิจ แต่ในอีกมุมก็เป็นโอกาสของบางธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทาง”ออนไลน์” และบริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ซึ่งต่างเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่แล้วให้เติบโตมากขึ้นไปอีก

“GET” เพิ่มคนขับรับดีมานด์พุ่ง

นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET ผู้ให้บริการออนดีมานด์แอปพลิเคชั่นและแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจดีลิเวอรี่ของGET มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีที่มีสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ผนวกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ GET เพิ่มผู้ขับขี่ในระบบให้มีจำนวนมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 40,000 คน รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการ GET RUNNER หรือบริการ “เดินส่ง” เพิ่มเติมด้วย และพร้อมจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากผู้บริโภคมีความต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

“ตั้งแต่มีฝุ่น PM 2.5 การใช้ดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของฟู้ดดีลิเวอรี่ ส่วนกรณีไวรัสโควิดเพิ่งเริ่มจึงยังไม่เห็นชัดมาก แต่ในต่างประเทศเห็นได้ชัดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้บริการดีลิเวอรี่ได้รับความนิยมสูงขึ้น ซึ่ง GETได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งในแง่ของการเพิ่มคนขับและมาตรการในการแพ็กหีบห่อและกระบวนการส่งที่ปลอดภัยทั้งกับพาร์ตเนอร์คนขับและลูกค้าที่ใช้บริการ”

สำหรับธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เฉพาะในประเทศไทย ปีนี้คาดว่าจะโตกว่า 31% ขณะที่ยอดออร์เดอร์รวมของบริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ที่อยู่ภายใต้ Go-jek ใน 3 ประเทศ คือ Go-jek อินโดนีเซีย Go-Viet ในเวียดนาม และ GET ในประเทศไทย ปีที่แล้วมีรวมกันกว่า 50 ล้านออร์เดอร์ และในไทยพบว่าโดยเฉลี่ยลูกค้าใช้งานเดือนละ 5 ครั้งมียอดการใช้ 175 บาทต่อครั้ง ขณะที่ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นอยู่ที่ 2.2 ล้านครั้ง

“LINE MAN” โหมแคมเปญ

ด้านนางสาววรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา LINE MAN มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของตลาดดีลิเวอรี่, ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค, ปัจจัยจากสภาพอากาศและจราจร ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ โปรโมชั่นประจำเดือน ก.พ. “รักอิ่มใจกับนายไลน์แมน” มาพร้อมโปรโมชั่นส่วนลดสูงสุดถึง 50% พร้อมค่าส่ง 10 บาทจึงผลักดันให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น ประกอบกับการขยายพื้นที่ในการให้บริการที่นครปฐม และสมุทรสาคร จากเดิมมีที่พัทยาไปแล้ว

แกร็บฟู้ดอัตราเติบโตเพิ่ม 3 เท่า

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลให้บริการแกร็บฟู้ดได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ใช้บริการรายเดิมและรายใหม่ โดยช่วงเวลาที่ผู้บริโภคนิยมใช้บริการสั่งอาหารดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น คือ ในเวลามื้อเที่ยงและมื้อเย็น สะท้อนให้เห็นว่าหลายคนเริ่มระมัดระวังไม่ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น ขณะที่อาหารยอดนิยมยังเป็นชานมไข่มุก และก๋วยเตี๋ยว

ส่วนบริการด้านการเดินทางของแกร็บ ยังมีปริมาณใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ สำหรับลูกค้ากลุ่มชาวไทย แต่ในกลุ่มชาวต่างชาติอาจได้รับผลกระทบบ้างจากยอดนักท่องเที่ยวที่ลดลง

ไม่ใช่แต่บริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” เท่านั้นที่เติบโตต่อเนื่อง ในฟากของการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ก็เช่นกัน

กรุงศรีฯชี้สถิติรูดปรื๊ด

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่บรรยากาศโดยรวมมีคนเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง ขณะที่การช็อปปิ้งมีแนวโน้มเติบโตทุกปี ซึ่งไม่ได้มาจากกรณีไวรัส COVID-19 อย่างเดียว แต่จากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น

“จากบรรยากาศถือว่าคนหันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เดินห้างน้อยลง เราต้องรอดูตัวเลขรายงานชัด ๆ อีกที”

ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรในส่วนของหมวดห้างสรรพสินค้ามียอดการใช้จ่ายเดือน ก.พ.ลดลง 7-8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมียอดใช้จ่ายที่ 3,500 ล้านบาท จากยอดใช้จ่ายหมวดห้างสรรพสินค้าทั้งปี 2562 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหมวดการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นหมวดช็อปปิ้ง เช่น Lazada, Shopee ที่ปกติมีแนวโน้มเติบโต 20-30% คาดว่าปีนี้จะโตขึ้นกว่า 30% จากปีที่แล้วที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรหมวดออนไลน์อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และเดือน ม.ค-ก.พ.นี้ พบว่าการช็อปปิ้งออนไลน์มีมูลค่าถึง 1,900 ล้านบาทเติบโต 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการใช้จ่ายในส่วนของ Grab Delivery ที่มีมูลค่าเติบโตเฉลี่ยต่อวัน 10% เป็นมูลค่า 200 ล้านบาทต่อวัน

ส่วนพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินบนโมบายแอปพลิเคชั่นเติบโตเฉลี่ย 50% ต่อปี ทั้งในส่วนธุรกรรมฝาก ถอน โอน จ่ายบิล ขณะที่การทำธุรกรรมผ่าน UCHOOSE เติบโต 20-30% ต่อเดือน

KTC ลุ้นช็อปออนไลน์โต

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้การระบาดของไวรัส COVID-19 จะกระทบความเชื่อมั่นและกำลังซื้อในระยะสั้น แต่หมวดช็อปปิ้งออนไลน์ได้รับอานิสงส์ เนื่องจากไม่กล้าเดินห้างสรรพสินค้า จึงหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับหมวดฟู้ดดีลิเวอรี่ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือน ม.ค. ยอดใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยวเติบโต 10% แต่เดือน ก.พ. ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเริ่มชะลอตัวลง เห็นสัญญาณการยกเลิกตั๋วเครื่องบิน และโรงแรม ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดถึงผลกระทบว่าจะมากน้อยระดับใด แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลายในเดือน เม.ย. โดยบริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยวปีนี้โต 10-12% มีสัดส่วน 8-9% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมดในปีที่ผ่านมาที่ 2.13 แสนล้านบาท

“ปีนี้เริ่มต้นมา บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย มีเรื่องกระทบกำลังซื้อ แต่เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นระยะสั้น เช่นหากคนไม่กล้าเดินห้างยอดขายผ่านออนไลน์ก็จะเพิ่มขึ้นได้ โดยปีที่ผ่านมาหมวดการใช้จ่ายออนไลน์โตได้ 35% ทั้งในแง่ปริมาณธุรกรรม และเม็ดเงินมียอดใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาทปีนี้คาดว่าจะโต 35-40% แม้ช่วงต้นปีจะชะลอแต่ทั้งปีน่าจะกลับขึ้นมาได้ แต่ต้องรีวิวขึ้นอยู่กับสถานการณ์และผลกระทบจากเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกต่าง ๆ”

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตปี 2563 บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10-12% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท

“อิออน” ช็อปออนไลน์เพิ่ม

ขณะที่นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและธุรกรรมบนออนไลน์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้ากังวลเรื่องการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ไม่ได้เพิ่มสูงมาก เนื่องจากฐานลูกค้าอิออนไม่ได้อยู่บนช่องทางออนไลน์มากนักโดยมีสัดส่วนไม่ถึง 10% โดยช่องทางการใช้จ่ายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นเป็นหมวดการช็อปปิ้ง เช่น Shopee, Lazada และAmazon เป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายของฟู้ดดีลิเวอรี่ยังอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น


“โดยรวมการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น มีลูกค้าบางกลุ่มที่กลัวและไม่ไปเดินห้าง เข้าร้านอาหาร แต่ก็มีกลุ่มที่ยังเป็นปกติ เราจึงไม่เห็นการสวิตช์การไปใช้ออนไลน์ทั้งหมด แต่ยอมรับมีสัดส่วนที่โตขึ้น ที่กระทบชัดเจน คือ กลุ่มโรงแรม สายการบินเหล่านี้หายไปค่อนข้างเยอะ”