ส่องจีน-ญี่ปุ่นรับมือไวรัส พึ่งดีลิเวอรี่-ไลฟ์สด-เทเลเวิร์กกู้วิกฤต

การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนยังคงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งไทยเองเริ่มมีความสุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่การระบาดระยะ 3 ซึ่งมีการติดต่อระหว่างคนในประเทศด้วยกัน ทำให้ภาคธุรกิจต้องหาทางรับมือ เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เข้าสู่ระยะ 3 ไปก่อนหน้าอย่างจีนและญี่ปุ่น โดยธุรกิจในประเทศเหล่านี้ต่างงัดกลยุทธ์มารับมือกับปัญหาทั้งการเข้างาน ลูกค้าที่เข้าร้านน้อยลง หรือการไม่สามารถจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ได้ เป็นต้น

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งได้รายงานถึงรูปแบบการรับมือของธุรกิจในแต่ละประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยกลุ่มร้านอาหารและผับ-บาร์ในจีนได้ใช้บริการดีลิเวอรี่อันขึ้นชื่อให้เป็นประโยชน์ ด้วยการนำโปรโมชั่นแฮปปี้อาวร์ หรือการลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางช่วงเวลา ซึ่งปกติจะให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มาทานที่ร้านเท่านั้น ตามจุดประสงค์ในการดึงดูดลูกค้าสร้างความคึกคักให้ร้าน มาขยายให้ครอบคลุมการสั่งดีลิเวอรี่ เพื่อสร้างยอดขายในช่วงเวลาที่ผู้คนเก็บตัวอยู่ในที่พัก

“แบนดิดอส” (Bandidos) ร้านอาหารสไตล์เม็กซิกัน ในเมืองกว่างโจว ซึ่งเดิมมีโปรฯแฮปปี้อาวร์ ช่วง 4 โมงเย็น-1 ทุ่ม ได้เปิดให้ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มราคาพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านแอปวีแชต ขณะที่บาร์บางแห่งใช้วิธีทำค็อกเทลบรรจุขวดส่งให้ลูกค้าในช่วงนี้

ส่วนบาร์เบียร์ “ชิง อะบรีว” (Jing-A Brewing) ปรับหน้าร้านเป็นแบบรับออร์เดอร์กลับบ้านเท่านั้น รวมถึงจัดโปรฯให้ส่วนลดเมื่อนำขวดเบียร์ (Growlers) กลับมาเติม และขยายเวลารับออร์เดอร์ดีลิเวอรี่จากเดิม 11 โมงไปเป็น 5 ทุ่ม พร้อมจับมือบริการส่งอาหาร “เมย์ถวน” (Meituan) ทำดีลราคาพิเศษ

ด้านธุรกิจอีเวนต์และวงดนตรีเองต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยรับมือเพราะสถานที่จัดงานปิดทำให้คอนเสิร์ตกว่า 2 หมื่นงานถูกยกเลิก ด้วยการหันจัดงานแสดงผ่านการไลฟ์สด โดยนักดนตรี-ดีเจ.อินดี้ ต่างพากันอัพเกรดบ้าน-ห้องพักของตนเป็นสตูดิโอย่อม ๆ พร้อมไลฟ์สดการแสดงผ่าน “บิลิบิลิ” (Bilibili) แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอ ที่มีจุดเด่นเป็นฟังก์ชั่นไลฟ์แชต ช่วยให้ผู้สามารถเชียร์หรือพูดคุยกันได้เหมือนอยู่ในงาน เช่นเดียวกับค่ายเพลงที่ไลฟ์สดการแสดงของศิลปินในค่ายของตน นอกจากนี้ “บิลิบิลิ” ยังจับมือผู้จัดคอนเสิร์ตจัดคอนเสิร์ตผ่านไลฟ์สดอีกด้วย

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่การปิดโรงงานทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามสัญญานั้น สภาเพื่อการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้พยายามปกป้องผู้ประกอบการด้วยการออกใบรับรองเหตุสุดวิสัยให้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการต่อรองลดค่าผิดสัญญาลง

ฝั่งญี่ปุ่นมีการปรับตัวในหลายรูปแบบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น “อิชิยะ” (Ishiya) ผู้ผลิตขนม “ชิโร่ยโคอิบิโตะ” (Shiroi koibito) ของฝากยอดฮิต ประกาศหยุดการผลิตในโรงงาน 2 แห่งเป็นเวลา 30 วัน เพื่อลดกำลังผลิตตามสภาพดีมานด์ พร้อมเปิดทัวร์โรงงานฟรีในช่วงเดียวกันจากปกติคิดค่าเข้าชม 600 เยนต่อคน

ขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ “โซนี่” ประกาศยกเลิกข้อจำกัดการทำงานจากบ้านที่เดิมกำหนดให้ไม่เกิน 10 วันต่อเดือน เป็นไม่จำกัด ส่วนกลุ่มที่จำเป็นต้องมาที่หน้างาน ได้ปรับชั่วโมงการทำงาน เพื่อเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน เช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ อย่าง “ฟูจิตสึ” ให้พนักงานที่ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสามารถทำงานจากบ้านได้นานเท่าที่จำเป็น ส่วน “โตชิบา” ให้พนักงานทุกคนทำงานจากบ้านได้เช่นกัน

แม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกมาช่วยหนุนกลยุทธ์นี้ นายกฯ “ชินโซ อาเบะ” กล่าวว่า การทำงานจากบ้านนับเป็นทางออกที่ดี และรัฐบาลจะพยายามหนุนแผนนี้เต็มที่เพื่อให้ทั้งคนทำงานและนักเรียนนักศึกษารู้สึกว่าสามารถทำงาน-เรียนที่บ้านได้โดยไม่มีผลเสียตามมา

จากนี้ต้องรอดูกันว่าผู้ประกอบการในไทยจะมีมาตรการรับมืออย่างไร หากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3