เครื่องใช้ไฟฟ้าแก้เกม “เศรษฐกิจขาลง” เปิดศึกชิงลูกค้าองค์กร

ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า
ภาพ: Piti A Sahakorn/Getty Images

เครื่องใช้ไฟฟ้าดิ้นปรับตัวรับมือศก.ขาลง “ไฮเออร์-ซัมซุง-โตชิบา”เปิดศึก ประมูลงานภาครัฐ-เอกชน ชดเชยรายได้ “ชาร์ป ไทย” สบช่องกระแสสู้ไวรัสมหาภัย ส่งเครื่องฟอกอากาศเชิงพาณิชย์บุก “พานาโซนิค” เน้นสินค้าโซลูชั่นตอบโจทย์อุตสาหกรรม การศึกษา ค้าปลีก ฯลฯ ปั้นรายได้หนุนเติบโต

นายจาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัว และผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อและชะลอการจับจ่าย คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตได้ไม่มากนัก หรืออาจจะมีตัวเลขการเติบโตเพียง 3-4% ทำให้หลายค่ายต้องเร่งปรับตัว นอกจากการจัดกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ควบคู่กันนี้ก็มุ่งหันไปเพิ่มน้ำหนักกับการเจาะตลาดที่เป็นลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง และคาดว่าปีนี้การแข่งขันของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเซ็กเมนต์ลูกค้าองค์กร หรือบีทูบี จะมีความดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการทั้งด้านสื่อสาร, คมนาคม, อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย  

สำหรับไฮเออร์เอง ขณะนี้ก็มีแนวทางที่จะรุกตลาดบีทูบีมากขึ้น นอกจากการเข้าร่วมประมูลการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล อาทิ บ้านประชารัฐ เป็นต้น บริษัทยังจะมีการเปิดบริการให้เช่าแอร์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มหอพัก-อพาร์ตเมนต์ ระดับแมส-กลางที่มีงบประมาณไม่สูง รวมถึงการขยายสาขาร้านสะดวกซัก “สมาร์ทพลัส” อีก 30 สาขา เพื่อใช้เป็นจุดโชว์ศักยภาพสินค้าและต่อยอดไปยังธุรกิจแฟรนไชส์

นายบุนยรัตน์ ไตรสิริสมบัติ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จากปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หนักกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าทั่วไปมีความอ่อนไหว
และระมัดระวังการจับจ่ายค่อนข้างมาก นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของโตชิบาจากนี้ไป คือ การขยายฐานลูกค้ากลุ่มองค์กร หรือบีทูบี โดยเน้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเสนอแพ็กเกจเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบครบวงจร จากเดิมที่มีฐานลูกค้ากลุ่มโรงแรม-คอนโดฯที่เน้นขายตู้เย็นมินิบาร์ และตู้เย็นประตูเดียว รวมถึงค้าปลีกอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่บริษัทได้สัญญาติดตั้งระบบแอร์ให้เมื่อปีที่แล้ว 

นายโรเบิร์ต อู๋ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดีนัก รวมถึงผลกระทบจากเหตุไวรัสโควิด-19 น่าจะชัดเจนในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายนนี้ นอกจากบริษัทมีแผนจะรับมือด้วยการเพิ่มโปรโมชั่นกระตุ้นการขายในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะทีวีเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะนำกลุ่มสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร อาทิ เครื่องกรองอากาศเชิงพาณิชย์ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะของชาร์ป เช่น ระบบฟอกอากาศพลาสมาคลัสเตอร์ที่จะเริ่มสร้างการรับรู้แบรนด์ด้วยการบริจาค-ติดตั้งระบบฟอกอากาศในหน่วยงาน ยานพาหนะ เช่น โรงพยาบาล รถไฟฟ้า รถเมล์ ฯลฯ รวมถึงจัดกิจกรรมในธีมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ อาทิ จอโฆษณาโปร่งใส ขนาด 90 นิ้ว ระบบประชุมทางไกล แพลตฟอร์มสมาร์ทโฮม โคโคโระ รวมถึง
อุปกรณ์ถ่ายทำ-ตัดต่อ-ออกอากาศ-รับชมคอนเทนต์ 8K ที่สามารถทำงานผ่านเครือข่าย 5G ได้ 

นายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ รองประธานธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะเพิ่มความเข้มข้นของธุรกิจบีทูบีขึ้นอีกเพื่อรับดีมานด์ในเซ็กเมนต์จอแสดงผล เช่น จอโฆษณา ป้ายแอลอีดี ทีวีสำหรับโรงแรมที่เติบโตเป็นดับเบิลดิจิตต่อเนื่อง 5 ปี นอกจากนี้ ยังจะต่อยอดไปยังกลุ่มสมาร์ทโฮมที่มีดีมานด์จากภาคอสังหาฯ โดยมี “เดอะวอลล์” จอไมโครแอลอีดี มีจุดขายที่ขนาด คือ 290 นิ้ว และทนต่อแสงรบกวนได้ดีกว่าเครื่องโปรเจ็กเตอร์ ตอบโจทย์ผู้ต้องการสร้างโฮมเธียเตอร์หรือโรงภาพยนตร์ส่วนตัว สำหรับเจาะตลาดอสังหาฯที่เป็นลักเซอรี่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มเจรจากับผู้พัฒนาอสังหาฯหลายรายซึ่งต้องการนำไปเป็นจุดขายของโครงการ 

ขณะที่นายอาคิฮิสะ โยโกยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่รายได้จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีอาคารขนาดใหญ่เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ไดกิ้นจะเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม 5 ดาว โรงพยาบาล มากขึ้นด้วยการชูจุดขายในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยประหยัดไฟ-ค่าบำรุงรักษา ซึ่งสามารถช่วยคืนทุนได้ใน 3-5 ปี

นางสาวราณี สิทธิแก้ว ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ซิสเต็มส์โซลูชั่น บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้พานาโซนิคจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินค้ากลุ่มที่เป็นโซลูชั่นมากขึ้น โดยจะมีการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้มากขึ้นด้วยการนำเข้าไลน์อัพที่เคยมีเฉพาะในญี่ปุ่น อย่างห้องน้ำสำเร็จรูป สุขภัณฑ์อัจฉริยะ และแชร์ไลน์อัพจากบริษัทอื่นในเครือ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน-ภาพและเสียง ฯลฯ เพื่อสร้างโซลูชั่นแบบวันสต็อปเซอร์วิส โดยมุ่ง 6 เซ็กเมนต์ที่มีแนวโน้มเติบโต อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม, ที่อยู่อาศัย, ค้าปลีก, โรงพยาบาล, สถานศึกษา และการรักษาความปลอดภัย พร้อมจับมือกับสถาบันการเงินพัฒนาโมเดลลีสซิ่งหรือเช่าใช้ รวมถึงการเพิ่มศูนย์บริการเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้นและเพิ่มความเชื่อมั่น

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่หลาย ๆ ค่ายหันมาให้ความสำคัญกับตลาดลูกค้าองค์กรมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้าองค์กรยังมีศักยภาพและพร้อมลงทุนกับโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต้องการตัวช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต, ค้าปลีกต้องการระบบเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า ส่วนกลุ่มอสังหาฯระดับบนต้องการจุดขายไว้ดึงดูดลูกค้าและรับมือการแข่งขัน และการขายแต่ละครั้งสามารถทำยอดขายได้มากและมีมาร์จิ้นหรือมีกำไรค่อนข้างสูง ต่างจากลูกค้าทั่วไปที่ตลาดแข่งขันราคาสูงและมีกำไรต่ำ