ผวาซีพีคุมค้าปลีกเบ็ดเสร็จ รวบจัดซื้อแม็คโคร-เซเว่น-โลตัส

“เจ้าสัวธนินท์” เดินหน้าขยายอาณาจักรซี.พี.ไม่ยั้ง ทุ่ม 3.38 แสนล้าน กวาดเรียบสาขาเทสโก้โลตัส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจคุมซัพพลายเชนค้าปลีก อำนาจต่อรองล้นฟ้า หลังรวมวอลุ่มสั่งซื้อ “โลตัส-แม็คโคร-เซเว่น” ซัพพลายเออร์ผวาถูกบีบมาร์จิ้นเอเซียพลัสฯ ชี้ช่วยซินเนอร์ยี “ซีพี ออลล์-ซีพีเอฟ” หนุนกลุ่มซี.พี.ขึ้นแท่นเบอร์ 1 โมเดิร์นเทรด กวาดรายได้กว่า 8 แสนล้านบาท ลุ้นหลุดบ่วง “อำนาจเหนือตลาด”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจไม่หยุดยั้ง หลังจากปลายปีที่ผ่านมาก็คว้าสัญญาสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการเข้าลงทุนในบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (มาเลเซีย) ด้วยมูลค่า 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท ผ่านบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ “บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด” ถือหุ้นโดย บมจ.ซีพี ออลล์ 40% บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 40% และบริษัท ซี.พี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (บริษัทย่อย CPF)20% ด้วยทุนจดทะเบียน 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท)

โดยบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งจะเป็นบริษัททำธุรกรรมซื้อกิจการเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย (กลุ่มเทสโก้ เอเชีย) ซึ่งนอกจากเงินทุนจากบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำนวน 2.4 แสนล้านบาทแล้ว บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ยังจะทำการกู้เงินอีกราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (9.6 หมื่นล้านบาท) สำหรับการซื้อกิจการครั้งนี้

เปิดพอร์ต “เทสโก้” ไทย-มาเลย์

สำหรับพอร์ตธุรกิจของกลุ่มเทสโก้ เอเชีย (ไทย+มาเลเซีย) ในปี 2562 มีรายได้รวม 2.2 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 7.5 พันล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจค้าปลีกและบางส่วนจากธุรกิจพื้นที่เช่า แต่กำไรจากการดำเนินงานราว 50% มาจากธุรกิจค้าปลีก และอีกราว 50% มาจากธุรกิจพื้นที่เช่า โดยกลุ่มเทสโก้ เอเชีย มีสินทรัพย์รวม 1.7 แสนล้านบาท และหนี้สิน 7.2 หมื่นล้านบาท

เทสโก้ ประเทศไทย ถือหุ้น 100% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทมจำกัด ประกอบธุรกิจค้าปลีก รวมถึงให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าและอื่น ๆ โดยร้านค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย รวม 1,967 สาขา แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา โดยในปี 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 139,779.9 ล้านบาท, หนี้สิน 42,201.1 ล้านบาท, รายได้รวม 188,628.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7,819.7 ล้านบาท

ขณะที่ “เทสโก้ สโตร์ส (มาเลเซีย)” มีร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา และร้านขนาดเล็ก 9 สาขา รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น68 สาขา สินทรัพย์รวม 30,535.1 ล้านบาท หนี้สิน 29,836.5 ล้านบาท รายได้รวม 33,551.8 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 339.1 ล้านบาท

3 เงื่อนไขใหญ่ก่อนปิดดีล

อย่างไรก็ตาม การเข้าลงทุนในกลุ่มเทสโก้ เอเชีย ของกลุ่ม ซี.พี. จะสำเร็จหรือไม่ ยังต้องผ่านการพิจารณาอีก 3 เงื่อนไขหลัก คือ 1.Tesco PLC ต้องได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขายกลุ่มเทสโก้ เอเชีย 2.จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และ 3.การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ มาเลเซีย ต้องได้รับอนุญาตจาก Ministry of Domestic Trade and ConsumersAffairs of Malaysla โดยทางกลุ่ม ซี.พี.คาดว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะสำเร็จเรียบร้อยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563

ซี.พี.ขึ้นแท่นยึดแชร์ 43.5%

รายงานวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสระบุว่า การทำดีลซื้อกิจการเทสโก้ ประเทศไทย และมาเลเซีย จะเป็นการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ซี.พี. ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบห้างค้าปลีกที่ครบทั้งห้างค้าส่ง (แม็คโคร), ไฮเปอร์มาร์เก็ต (เทสโก้) และร้านสะดวกซื้อ (7-11) และทำให้มีส่วนแบ่งตลาดรวมทุกรูปแบบขึ้นเป็นอันดับ 1 (ร้านสะดวกซื้อ 1.33 หมื่นสาขาจากเดิม 1.2 หมื่นสาขา, ห้างค้าส่ง (ในประเทศ) 94 สาขา (เท่าเดิม) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (เทสโก้+ฟู้ด เซอร์วิส แม็คโคร) 431 สาขา (เดิม 40 สาขา) และภาพรวมส่วนแบ่งตลาดห้างโมเดิร์นเทรดในประเทศไทยอยู่ที่ 43.5% จากเดิม 31.9%

นอกจากนี้ ในส่วนช่องทางต่างประเทศก็เพิ่มเป็น 76 สาขา จากเดิม 7 สาขา และเพิ่มประเทศมาเลเซียเข้ามา จากเดิมที่มีเฉพาะในกัมพูชา, เมียนมา, จีน และอินเดีย โดย บล.เอเซีย พลัส ได้แสดงส่วนแบ่งตลาดตามสัดส่วนยอดขายของร้านโมเดิร์นเทรด ประกอบด้วย ซีพี ออลล์ 19.8%, แม็คโคร 12.1%, เทสโก้ 11.6%, บิ๊กซี 7%, ซีอาร์ซี 8.2% และอื่น ๆ (อาทิ โฮมโปร, โกลบอลฯ ฯลฯ) 41.2%

พลังอำนาจการต่อรองสูง

รายงานวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัสระบุว่า กลุ่ม ซี.พี.และซีพี ออลล์ ในระยะยาวจะได้ประโยชน์จากการซินเนอร์ยี่ ทั้งอำนาจการต่อรองกับกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและฐานธุรกิจที่พร้อมต่อยอดในมาเลเซีย

นอกจากนี้ ในส่วนของ CPF ยังจะได้ผลบวกจากการเข้าลงทุนในระยะยาว 1.จากการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของ CPF ทั้งของสด (หมู/ไก่) และอาหารแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบัน CPF มียอดขายผ่านช่องทางของเทสโก้ในไทยเพียง 700 ล้านบาทต่อปี จึงมีศักยภาพและโอกาสการเติบโตสูง สอดคล้องกับเมื่อครั้งซีพี ออลล์ ซื้อกิจการแม็คโคร ในปี 2556 ซึ่งก่อนหน้า CPF มียอดขายผ่านแม็คโครเพียง 500 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบัน CPF มียอดขายผ่านแม็คโครถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท

2.การลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการขนส่งที่ CPF สามารถใช้ร่วมกับเทสโก้ได้ และ 3.CPF จะเข้าไปช่วยพัฒนาด้าน “ฟู้ดเซอร์วิส” ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริหารฟู้ดคอร์ตในเทสโก้ พร้อมกันนี้ ทาง บล.เอเซีย พลัสได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ CPF ในปี 2564-2565 เพิ่มขึ้น 0.1% และ 0.3% ตามลำดับ ผลจากการเข้าซื้อกิจการกลุ่มเทสโก้ เอเชีย ตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 เป็นต้นไป

แบกภาระดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสประเมินว่า เงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ เอเชีย ในส่วนของ CPF ซึ่งต้องใส่เงินทุน 4.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเป็นการใช้เงินกู้ 3.6 หมื่นล้านและอีก 1.2 หมื่นล้าน เป็นกระแสสดของบริษัทและคาดว่าหลังการเข้าซื้อกิจการ CPF จะมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนสุทธิ ณ สิ้นปี 2563 ที่ 1.5 เท่า

ขณะที่ในส่วนบทวิเคราะห์ของ CPALL ระบุว่า ในส่วนบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ (ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้งส์) จะต้องแบกรับดอกเบี้ยจากการก่อหนี้ 9.6 หมื่นล้านบาท ประเมินดอกเบี้ยปีละ 3.5 พันล้านบาท ดังนั้น ในระยะแรกกำไรของกลุ่มเทสโก้ เอเชีย ซึ่งอยู่ที่ราว 7.5 พันล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 3.8 พันล้านบาท และซีพี ออลล์ ก็จะรับรู้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 40% ราว 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ CPALL มีภาระดอกเบี้ยในส่วนที่บริษัทก่อหนี้เองอีก 3.5 พันล้านบาท ทำให้คาดว่าจะกระทบกำไรของ CPALL ปีละราว 2 พันล้านบาท บล.เอเซีย พลัสจึงปรับลดกำไรของ CPALL ลงตั้งแต่งวดไตรมาส 4/2563

ลุ้นหลุดบ่วงอำนาจเหนือตลาด

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในแง่ของการพิจารณาเรื่องอำนาจเหนือตลาดนั้นขึ้นอยู่กับทาง กขค.ว่าจะดูในมิติไหนบ้าง จะครอบคลุมธุรกิจค้าปลีกอย่างไร ที่น่าสนใจ คือ กลุ่ม ซี.พี.มีการนำเสนอข้อมูลว่า การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้การแข่งขันในตลาดหายไป เพราะยังมีคู่แข่งในตลาดอย่างบิ๊กซี หรือท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่กลุ่ม ซี.พี.ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบเทสโก้

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับรายงานว่า กลุ่มธุรกิจ ซี.พี.ได้เข้าซื้อธุรกิจเทสโก้ เนื่องจากผู้ที่จะรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งจะต้องขออนุญาตรวมธุรกิจตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

โดยสำนักงานจะรอการยื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณา โดยจะต้องศึกษา วิเคราะห์ขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกหลายประเภท และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งผู้บริโภค โดยคณะกรรมการจะพิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการยื่นขออนุญาตรวมธุรกิจ

กดดัน “ซัพพลายเออร์”

แหล่งข่าวผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ครั้งนี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจว่า” ราคาที่ ซี.พี.เสนอครั้งสุดท้าย คือ 338,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขยากแก่การดำเนินธุรกิจ เมื่อมองว่า ซี.พี.มีต้นทุนเงินกู้อยู่ที่ 3% และเทสโก้ โลตัส มีขีดความสามารถทำกำไรทั้งไทย และมาเลเซีย รวมกันที่ 10,000 ล้านบาท จากเดิมประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายน่าจะอยู่ที่ 310,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขสูงที่สุดและดำเนินธุรกิจได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ ซี.พี.จะนำวอลุ่มของเทสโก้ โลตัส ไปรวมกับแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น ใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่าย เพื่อสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับเปิดทางให้นำสินค้าในกลุ่มอาหารของเครือ ซี.พี.มาวางจำหน่ายให้มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์เคยเกิดขึ้นกับแม็คโครมาก่อนแล้ว

หวั่นถูกบีบมาร์จิ้น

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่งกล่าวว่า การเข้าซื้อเทสโก้ทั้งในไทย และมาเลเซีย ดังกล่าวต้องยอมรับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม ซี.พี. และจากนี้ไปเทสโก้ โลตัส จะเป็นธุรกิจค้าปลีกอีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่ช่วยต่อยอดธุรกิจของกลุ่ม ซี.พี.ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญคือจะทำให้กลุ่ม ซี.พี.มีอำนาจการต่อรองในตลาดมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน ที่เป็นกลุ่มที่ ซี.พี.มีความแข็งแกร่งและมีสินค้าในพอร์ตจำนวนมาก

จากการพูดคุยกับซัพพลายเออร์หลาย ๆ ราย ขณะนี้ทุกคนกังวลเรื่องนี้มาก อำนาจต่อรองที่มากขึ้นจะทำให้มาร์จิ้นของซัพพลายเออร์ที่เคยลดลง โดยเฉพาะหากมีการรวมการจัดซื้อของทั้งเซเว่นฯ แม็คโคร และเทสโก้ โลตัส เข้าด้วยกัน ซึ่งซัพพลายเออร์เองก็จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้

“การที่ ซี.พี.ซื้อเทสโก้ โลตัส ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ ซี.พี.สามารถต่อยอดธุรกิจโดยอาศัยการเป็นผู้ผลิตอาหารสด เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง ไปยังสาขาต่าง ๆ ของเทสโก้ โลตัสได้มากขึ้น รวมถึงการส่งสินค้าเหล่านี้เข้าไปยังสาขาของเทสโก้ โลตัส ในมาเลเซียด้วย”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก-ค้าส่งขนาดกลางแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทุกคนมองประเด็นเรื่องการผูกขาด และค่อนข้างมีความกังวล อย่างน้อยที่สุดที่ซี.พี.มีทั้งเซเว่นฯ แม็คโคร และเทสโก้ โลตัส นอกจากจะเป็นการผูกขาดและมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ก็มีอำนาจต่อรองมากอยู่แล้ว และจะทำให้ค้าปลีก-ค้าส่งมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายกลางรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวน่าจะเหนื่อยมากขึ้น และต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ธนินท์ “ขายได้-ก็ซื้อกลับคืนได้”

ในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ พูดถึงก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ของเครือ ซี.พี.ว่า ทำให้ต้องตัดสินใจขายกิจการหลาย ๆ อย่างไป ไม่ว่าจะเป็น “สยามแม็คโคร หรือโลตัส” ถือเป็นการ “ทิ้งของบางส่วนเพื่อไม่ให้เรือล่ม” และคิดว่า “วันนี้ขายได้ วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้”

16 ปี หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (23 เม.ย. 2556) เครือ ซี.พี. โดย “ซีพี ออลล์” สามารถซื้อกิจการ “สยามแม็คโคร” กลับคืนมาได้สำเร็จ อีก 7 ปีต่อมาก็ถึงคิวของ “เทสโก้ โลตัส”

ใช้เทคโนโลยีพลิกโฉม “โลตัส”

นายธนินท์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว “เดอะ สแตนดาร์ด” โดยพูดถึงดีลล่าสุดว่า “เทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม ตอนวิกฤตผมขายไป ฝากคนอื่นไปเลี้ยง ทีนี้คนที่เลี้ยงจะขายลูกผมออกมา ผมต้องซื้อ แต่ซื้อแล้วต้องเป็นประโยชน์”

โดยการบริหารจัดการจะต้องเปลี่ยนใหม่เป็นการนำเทคโนโลยีไปปรับให้พัฒนาขึ้นเข้ากับยุค 4.0 ทำให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อหมู เป็ด กุ้ง ไข่

“จะทำให้ของดีราคาถูกกระจายทั่วประเทศไทยได้มากขึ้น เร็วขึ้น และแน่นอนว่าถ้าการซื้อเทสโก้ราคาสูงไป ผมซื้อแล้วไม่คุ้ม ก็จะไม่สู้”

และในบทสัมภาษณ์ยังย้ำว่า จะทำให้ “เทสโก้ โลตัส” มียอดขายเพิ่มมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รายได้มากขึ้น

ย้ำซื้อโลตัสไม่ผูกขาด มีบิ๊กซีแข่ง

เจ้าสัวธนินท์ยังพูดถึงกรณีที่คนวิตกว่า “ซี.พี.” ผูกขาดธุรกิจด้วยว่า “แม็คโคร คือ ค้าส่ง” ขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วน “เทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีก” ขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อ” คือ ใกล้บ้าน และว่า 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกไม่เอามาบวกกัน

“เซเว่นอีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครขายส่ง ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าบิ๊กซี กับเทสโก้ โลตัส แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อเขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ผมซื้อเทสโก้ โลตัส มาก็เป็นคู่แข่งกันเหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือคนไทย …ข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่า มันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง …ความจริง เทสโก้ โลตัส เป็นของผมมาก่อน ที่ทำตอนนั้น บิ๊กซียังไม่มีเลย แล้ววันนี้ผมซื้อกลับมา ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยทำธุรกิจตัวนี้”