“ทิมฮอร์ตันส์-คาซ่าลาแปง” ชิงตลาดร้านกาแฟ 3.6 หมื่นล้าน

แบรนด์ไทย-เทศ รุมชิงเค้กตลาดร้านกาแฟ 3.6 หมื่นล้าน “ทิม ฮอร์ตันส์” รุกเปิดอีก 10 สาขา ยึดทำเลศูนย์การค้าใจกลางกรุง พร้อมเติมเมนูใหม่ ดึงลูกค้าใช้บริการต่อเนื่องทั้งวัน ก่อนมีแผนขายแฟรนไชส์ช่วยสปีดสาขาในอนาคต ด้าน “คาซ่า ลาแปง” ไม่น้อยหน้า เตรียมเปิดอีก 6-8 สาขา พร้อมส่งโมเดลใหม่ “เอ็กซ์เพรส” เพิ่มความคล่องตัวเจาะทำเลทราฟฟิกหนาแน่น ก่อนเปิดนำร่องบริการ Rabbit Walk เดินส่งถึงออฟฟิศ รับมือลูกค้าหายหลังเจอโควิด-19 นำร่องเซ็นทรัลเวิลด์

นางสาวดุษิตา สถิรเศรษฐ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท วีอีท จำกัด ผู้บริหารเชนร้านกาแฟแบรนด์ “ทิม ฮอร์ตันส์” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในปี 2563 นี้บริษัทมีแผนเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีกอย่างน้อย 10 สาขา หรือเฉลี่ยเดือนละสาขา หลังผลตอบรับของสาขาแรก ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ มีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและพนักงานรับ-ส่งอาหารเฉลี่ยรวมประมาณ 1 พันคนต่อวัน

โดยสาขาใหม่จะมุ่งเจาะทำเลที่มีทราฟฟิกสูงทั้งอาคารพาณิชย์และศูนย์การค้า โดยแต่ละสาขาจะมีเอกลักษณ์ด้านดีไซน์ตามกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ แต่ยังคงจุดแข็งโพซิชั่นร้านกาแฟระดับกลาง ราคาจับต้องได้ รสชาติคงที่ทุกสาขา และการบริการ

ประเดิมด้วยสาขา 2 ที่อาคารอับดุลราฮิม ใกล้กับสถานทูตแคนาดา เพื่อย้ำโพซิชั่นแบรนด์ร้านกาแฟจากแคนาดา ซึ่งจะเปิดในสัปดาห์นี้ ตามด้วยในศูนย์การค้าอีกหลายแห่งย่าน กทม. เช่น เพลินจิตเซ็นเตอร์ช่วงเดือนเมษายน, ซีคอนบางแค, ซีคอนสแควร์ และเดอะปาร์ค ในเดือนพฤษภาคม

“ตอนนี้เราจะโฟกัสทำเลสำคัญใน กทม.ให้ครบก่อน แล้วจึงค่อยออกไปยังหัวเมือง โดยตอนนี้ส่งทีมงานเดินสายสำรวจทำเลอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากขยายสาขาแล้ว ยังเตรียมเพิ่มเมนูใหม่ ๆ เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน-เย็น เพื่อขยายโอกาสที่ลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการ ตามแนวทางการเป็นร้านที่ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการได้ตลอดทั้งวัน จากปัจจุบันที่เน้นกาแฟและโดนัท ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์เพื่อสร้างการรับรู้ พร้อมเร่งอัพเกรดการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการให้บริการหลังจากเปิดสาขาแรก ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านความเร็วของการประกอบอาหาร และให้บริการลูกค้า เช่น เพิ่มแถวด่วนสำหรับออร์เดอร์จำนวนไม่มาก การเพิ่มจำนวนพนักงานต่อสาขา เพื่อรับมือกับดีมานด์ทั้งลูกค้าแบบทานที่ร้านและบริการส่งอาหาร รวมถึงปรับการบริหารสต๊อกสินค้า เพื่อรองรับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น และในระยะยาวจะเพิ่มระบบสมาชิก รวมไปถึงการขายแฟรนไชส์

ด้านนายเอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ผู้บริการร้านกาแฟแบรนด์ “คาซ่า ลาแปง” เปิดเผยว่า ตลาดร้านกาแฟและการบริโภคกาแฟของคนไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณการบริโภคต่อคนของคนไทยยังคงต่ำกว่าต่างประเทศ ซึ่งแสดงว่าตลาดนี้ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีก ตลอดจนความสนใจของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับกาแฟก็สูงขึ้น มีความรู้เรื่องกาแฟมากขึ้น ทำให้ภาพของตลาดร้านกาแฟที่เป็นสเปเชียลตี้ หรือกาแฟพิเศษ มีผู้เล่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งแบรนด์ที่เป็นเชนใหญ่ เช่น คาซ่า ลาแปง, พาคามาร่า, เร้ด ไดมอนด์ และแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแบรนด์อินดี้ หรือร้านที่มีเพียง 1-2 สาขา เพื่อรับกับโอกาสดังกล่าว ในปีนี้ คาซ่า ลาแปง จึงมีแผนที่จะลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 6-8 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 16 สาขา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์, อารีย์, บางนา, พัทยา ฯลฯ พร้อมกับเปิดตัวโมเดลใหม่ “เอ็กซ์เพรส” ในรูปแบบ

ของคีออสก์ ไซซ์เล็ก ขนาด 15-30 ตร.ม. เพื่อความคล่องตัวในการขยายเจาะทำเลที่มีทราฟฟิกสูง จากปกติที่มี 3 โมเดล คือ ไซซ์เอ็ม ขนาดน้อยกว่า 100 ตร.ม. ไซซ์แอล ขนาด 100-200 ตร.ม. และไซซ์เอ็กซ์แอล ขนาด 200 ตร.ม.ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยระยะสั้นอย่างผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทราฟฟิกในห้างสรรพสินค้าลดลง ส่งผลต่อจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการของคาซ่า ลาแปง ที่มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้า ทำให้บริษัทได้นำร่อง เปิดตัวบริการ “Rabbit Walk” บริการเดลิเวอรี่แบบเดินส่ง ให้บริการที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นที่แรก โดยลูกค้าสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด หรือกดลิงก์สำหรับสั่งซื้อได้ที่ช่องทาง https://munchapay.co/casalapin ซึ่งในช่วงนี้ได้ทำโปรโมชั่นกาแฟแก้วละ 80 บาท จากปกติเริ่มต้น 110 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อ ก่อนที่จะขยายบริการดังกล่าวไปในสาขาอื่น ๆ ที่อยู่ในอาคารสำนักงาน หรือห้างสรรพสินค้าต่อไป

“สำหรับสาขาที่อยู่ในห้าง ลูกค้าลดลงไป 20-30% ส่วนสาขาที่อยู่ข้างนอกแบบสแตนด์อะโลน ลูกค้าลดลงไม่มาก ประมาณ 10% เราก็พยายามปรับ ทำโปรโมชั่นเรียกให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ และแรบบิทวอล์กนี้ก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าหาลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ธุรกิจดีลิเวอรี่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ส่วนแผนระยะยาวก็ต้องเป็นการคุมต้นทุน ทั้งด้านโอเปอเรชั่น พนักงาน อาจจะโยกจากสาขาที่คนน้อย ไปช่วยสาขาอื่น ฯลฯ”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปรับสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ใหม่ เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากมีร้านกาแฟที่ขายในศูนย์กว่า 30 ร้าน โดยการเพิ่มขนาดของพื้นที่ จากโมเดลไซซ์เอ็ม เป็นไซซ์แอล และเพิ่มเมนูอาหารเข้ามาในร้านมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดซื้อต่อบิล จากปกติที่ยอดซื้อต่อบิลเฉลี่ย 280 บาท เป็น 400 บาทขึ้นไปได้ ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสการขาย เช่น ช่วงมื้อกลางวัน และมื้อเย็น

โดยบริษัทคาดว่า คาซ่า ลาแปง จะมีรายได้ปีนี้อยู่ที่ 140 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้อยู่ที่ 80 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดร้านกาแฟในเมืองไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ร้านกาแฟในไทยมีการขยายตัวขึ้นถึง 22% ในช่วงปี 2559-2561 และมีมูลค่าถึง 36,000 ล้านบาท