ยี่ปั๊วซาปั๊วยอดร่วงขอยืดหนี้ สารพัดโปรแรงเอาไม่อยู่แคชโฟลว์สะดุด

ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโอดพิษเศรษฐกิจชะลอลากยาว-กำลังซื้อเหือดหาย ค้าขายฝืดเคืองหนัก กุมขมับ ยอดร่วง 25-30% เดินหน้าจับเข่าคุยซัพพลายเออร์ ขอผ่อนปรนเครดิตเทอมชำระหนี้ ครวญสารพัดโปรโมชั่น ลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 แจกทอง ช่วยไม่ได้ เผยสภาพคล่องเริ่มสะดุด หวั่นกระทบเป็นโดมิโน ล่าสุดแถมเจอไวรัสโควิด-19 ทุบซ้ำอีก บรรยากาศจับจ่ายยิ่งซึมหนัก

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จะเริ่มส่งผลกระทบกับธุรกิจการค้า-การจับจ่าย อย่างชัดเจนมากขึ้น ๆ ตามลำดับ และที่เป็นรูปธรรมตามมาก็คือ ผู้ประกอบการมียอดขายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มจะกระทบไปถึงเงินหมุนเวียนของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “ไวรัสโควิด-19” ที่เกิดขึ้นยิ่งส่งผลให้สถานการณ์การทำมาค้าขายฝืดเคืองมากขึ้นไปอีก

ยอดร่วงกระทบแคชโฟลว์

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บรรยากาศการค้าขายในภาพรวมของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งโดยรวมซบลงมาก โดยเฉพาะยอดขายในส่วนของค้าส่งนั้นลดลงเรื่อย ๆ ตลาดซึมมาก ตอนนี้โปรโมชั่นแรง ๆ ประเภทซื้อ 1 แถม 1 ที่ทำมาเป็นระยะ ๆ ก็เริ่มเอาไม่อยู่ ร้านค้าโชห่วย ร้านค้ารายเล็กรายน้อยที่มาซื้อสินค้าไปขายต่อ นอกจากจะมีจำนวนสินค้าที่ซื้อแต่ละครั้งแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ลดความถี่ในการซื้อลงด้วย ซึ่งจากการพูดคุยก็พบว่าทุกร้านล้วนมียอดขายที่ลดลง ลูกค้าจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ภาวะแล้ง พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้มีรายได้น้อยลง

ตอนนี้เท่าที่ประเมินในเบื้องต้น ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงตอนนี้ ยอดขายลดลงประมาณ 25-30% น่าจะได้ เมื่อยอดขายลดลง แคชโฟลว์หรือเงินหมุนเวียนก็เริ่มไม่คล่อง เริ่มสะดุด และต้องปรับตัวด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกัน ก็ได้เริ่มทยอยพูดคุยกับซัพพลายเออร์สินค้าหลาย ๆ ราย อาทิ ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ ดัชมิลล์ เป็นต้น ให้รับรู้ปัญหาที่เกิด เพื่อช่วยกันหาทางออก ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ขอไปก็คือ การขอให้ซัพพลายเออร์ผ่อนปรนหรือยืดเครดิตเทอมการชำระหนี้ จากปกติส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 30 วัน คาดว่าน่าจะได้คำตอบในเร็ว ๆ นี้

“ตั้งแต่ปีใหม่มาแล้ว ค้าส่งและซัพพลายเออร์แทบทุกรายได้ทยอยทำโปรโมชั่นต่าง ๆ มากระตุ้น ทั้งลดราคา มีของพรีเมี่ยมต่าง ๆ แถม ลุ้นรางวัลแจกทอง ฯลฯ แต่ก็ทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น บรรยากาศก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น ยิ่งตอนนี้มาเจอไวรัสโควิด-19 อีก ตอนนี้ประชาชนหรือผู้บริโภคทั่ว ๆ ไปมีความตื่นกลัวและวิตกกังวลกับเรื่องนี้มาก หลาย ๆ คนไม่อยากจะเดินทางไปไหนมาไหนเพราะกลัวว่าจะติดไวรัส ซึ่งก็ยิ่งทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยเงียบลงไปมาก”

ไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในภาคกลาง กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลพวงภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ และล่าสุดยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความกังวลเข้ามาซ้ำเติมอีก ส่งผลกระทบกับธุรกิจในวงกว้างโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เนื่องจากผู้คนจับจ่ายน้อยลง หรือเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าส่งทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เริ่มมีปัญหาสต๊อกบวม เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมามีการสต๊อกสินค้าและรับเป้าหมายจากซัพพลายเออร์มาค่อนข้างมาก เพราะคาดว่าช่วงปีใหม่-ตรุษจีนน่าจะพอขายได้ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ตอนหลัง ๆ มาซัพพลายเออร์ก็เข้ามาช่วยเรื่องการจัดโปรโมชั่น แต่ยอดก็อืด สินค้าระบายไม่ออก ยอดขายไม่ดี จึงต้องรวมกันเจรจากับซัพพลายเอออร์เพื่อขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ ซึ่งทั่ว ๆ ไปจะมีระยะเวลา 30 วัน ซึ่งก็อาจจะขยายออกไปเป็น 45-60 วัน ตอนนี้ซัพพลายเออร์หลายรายรับทราบปัญหาแล้วและน่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหามาตรการมาช่วย

“ตอนนี้ทุกรายต้องจัดโปรโมชั่นอย่างหนัก สินค้าบางอย่างถึงขนาดว่าขายเท่าทุนก็ยังขายไม่ได้ สินค้าบางกลุ่มยอดลดลงมาก เช่น กลุ่มซักล้าง-ทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาเช็ดทำความสะอาดพื้น เป็นต้น สินค้าที่ยังพอขายได้หลัก ๆ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น”

ส.ค้าปลีกไทยร้องรัฐช่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ออกแถลงการณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนจำนวนลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้ภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 และพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 รวมทั้งเสนอให้พิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนสิงหาคม และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนสิงหาคมไปเป็นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 และเสนอให้ลดอัตราค่าน้ำค่าไฟต่อหน่วยให้แก่นิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการนำโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” และ “ชิม ช้อป ใช้” กลับมาอีกครั้ง โดยการขยายวงเงินการบริโภคและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจนถึงวันที่ 31 กันยายน พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอด และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้