ค่ายทีวียักษ์…ระทึก ลุ้นซัพพลายชอร์ตไม่ทันโอลิมปิก

ในปีที่มีงานแข่งกีฬารายการใหญ่มักจะเป็นปีทองของกลุ่มสินค้าภาพและเสียง เนื่องจากผู้บริโภคมักจะใช้โอกาสนี้ซื้อทีวี และอาจรวมถึงชุดเครื่องเสียงใหม่ เพื่อเชียร์กีฬาและทีมโปรดได้แบบคมชัดเต็มตา ทำให้แต่ละแบรนด์เตรียมส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อชิงดีมานด์ พร้อมสำรองสต๊อกไว้รองรับ

แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าแบรนด์ทีวีจะต้องลุ้นระทึกมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะทำให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกแล้ว หรือแม้ว่าการแข่งขันจะจัดขึ้นตามกำหนดเดิม แต่การกักกันโรคในจีนและประเทศอื่น ๆ ยังทำให้สายการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ อาจจะยังมีปัญหาอยู่ และมีความเสี่ยงจะมีสินค้าได้ไม่เพียงพอกับดีมานด์ หรือต้นทุนอาจจะพุ่งสูงขึ้นจนต้องขยับราคาตาม เรียกว่ากระทบทั้งขึ้นทั้งล่อง

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ขณะนี้ผู้ผลิตทีวีทั้งแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน กำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องกำลังผลิตสินค้าไม่เพียงพอและต้นทุนพุ่งสูงขึ้น จากการปิดโรงงานในจีนช่วงไวรัสระบาด ทำให้ต้องขยับราคาทีวีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นไปประมาณ 10% และบางรายต้องเลื่อนการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกไปก่อน

ทั้งนี้ จีนถือเป็นฐานการผลิตหน้าจอแอลอีดีสำคัญของโลก และทวีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังหลายบริษัทหันไปใช้โรงงานในจีนเป็นฐานหลัก อาทิ แอลจี ที่เตรียมปิดโรงงานแอลซีดีในเกาหลีใต้ แล้วไปเพิ่มกำลังผลิตของโรงงานที่เมืองกว่างโจวแทน แม้แต่ชาร์ป และเจแปน ดิสเพลย์ ที่ผลิตจอแอลอีดีในประเทศอื่น ก็ยังใช้จีนเป็นฐานประกอบชิ้นส่วนเพราะความได้เปรียบด้านค่าแรง สอดคล้องกับข้อมูลของ “อินฟอร์มา” บริษัทวิจัยสัญชาติอังกฤษ ซึ่งคาดว่าเดิมทีปีนี้จีนจะผลิตจอแอลซีดีป้อนตลาดในสัดส่วนสูงถึง 57% ของดีมานด์ทั่วโลก

แหล่งข่าวในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารายหนึ่ง อธิบายว่า ปัจจุบันแม้ว่ากระบวนการผลิตหน้าจอและแผงวงจรจะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น แต่ขั้นตอนการประกอบยังต้องพึ่งมนุษย์อยู่ ทำให้ที่่ผ่านมานี้ผู้ผลิตหันมาพึ่งพาโรงงานในจีนกันมากขึ้น แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานในเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะอู่ฮั่น ฐานการผลิตหน้าจอแอลซีดีสำคัญเป็นอัมพาตไป โดยประเมินว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากำลังผลิตหน้าจอแอลซีดีในจีนลดลงไปถึง 20% หลังโรงงานใหญ่หลายแห่งหยุดการผลิตชั่วคราว เพราะขาดพนักงานและการขนส่งวัตถุดิบหยุดชะงัก

สถานการณ์นี้ทำให้หลายแบรนด์ต้องปรับตัวรับมือ เช่น “ชาร์ป” ต้องปรับขึ้นราคาแอลซีดีทีวีหลายรุ่น ตั้งแต่ 9-12% หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาด และให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น และบางบริษัทก็ตัดสินใจเลื่อนการเปิดตัวทีวีบางรุ่นออกไปก่อน เพื่อรอความพร้อมด้านซัพพลาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีแบรนด์ที่มองบวกอยู่เช่นกัน โดย “เสี่ยวหมี่” ผู้ผลิตทีวีอันดับ 5 ของโลก คาดว่ากำลังผลิตและการขนส่งจะกลับเป็นปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จึงยังคงเป้ายอดขายในปีนี้เอาไว้ พร้อมเร่งรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย รวมถึงตลาดอเมริกาในไตรมาส 4 เพื่อชดเชยตัวเลขที่หายไป


ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทุกฝ่ายต่างต้องลุ้นระทึกกับตลาดทีวีทั้งแบรนด์สินค้าที่ต้องรอดูความชัดเจนของโอลิมปิก และการฟื้นตัวของฐานผลิตในจีน ขณะที่ผู้บริโภคต่างก็ต้องลุ้นกับราคาสินค้าที่อาจจะแพงขึ้น