“จีเอ็มเอ็มมิวสิค”เติมรายได้ รุกโชว์บิซ-ขายสินค้าศิลปิน

“จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” ฝ่าคลื่นดิสรัปชั่น สู่การลงทุนสเตจใหม่ วางยุทธศาสตร์ 5 ปี ผุดสารพัดโปรเจ็กต์ต่อยอดธุรกิจเพลง เร่งผลิตศิลปินใหม่ป้อนค่ายปีละ 30 คน ขยายเซ็กเมนต์โชว์บิซ ผนึกพันธมิตรค่ายเพลงช่วยบริหารสิทธิคลุมทุกช่องทาง ก่อนเตรียมตั้งบริษัทใหม่ รุกปั้นสินค้าศิลปิน ต่อยอดน้ำหอม เป๊ก-ผลิตโชค หลังกระแสตอบรับแรงเวอร์ พร้อมเล็งซื้อกิจการโชว์บิซ/อีเวนต์ เสริมทัพ ดันรายได้โตก้าวกระโดด

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากการจัดทัพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เข้าไปปรับโครงสร้างธุรกิจ หาจุดโฟกัส เพื่อทำให้บริษัทสามารถยืนอยู่ได้ด้วย core business อย่างธุรกิจเพลงได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าไปในแพลตฟอร์มดิจิทัล การรุกธุรกิจโชว์บิซ รวมถึงธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ ทำให้ผลประกอบการของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา ปิดรายได้ที่ 4,014 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี

สเต็ปต่อไป หรือบันไดขั้นที่ 2 ที่บริษัทได้วางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ให้เติบโตต่อไปในช่วง 5 ปีจากนี้ (2563- 2568) ก็คือ การสร้างคอนเทนต์ และศิลปินใหม่ ๆ โดยเตรียมใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพื่อรีครูตและออกอัลบั้ม โดยคาดว่าจะผลิตศิลปินใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 30 คนต่อปี ขณะเดียวกัน ก็จะกลับมาออกอัลบั้มเต็มอีกครั้ง ในทุกแนวเพลงดนตรี พร้อมกับการนำบิ๊กดาต้า เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น จำนวนแฟนคลับ จำนวนเพลงฮิต ฯลฯ ในการทำอัลบั้มใหม่ของศิลปิน

ขณะที่ธุรกิจโชว์บิซ มีแผนที่จะขยายการทำมิวสิกเฟสติวัล ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ เพิ่มโซโลคอนเสิร์ตทั้งศิลปินปัจจุบัน และศิลปินหน้าใหม่ พร้อมกับเข้าไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ทำธีมคอนเสิร์ต และขยายสู่การเป็นโปรโมเตอร์ ในการจัด international showbiz ในไทย โดยปีนี้มีแผนที่จะจัดกว่า 40 งาน ตลอดจนการสร้างสินค้าศิลปิน (artist product) ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะทำการจัดตั้งบริษัทใหม่ ที่จะโฟกัสในการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่จะโฟกัสเฉพาะศิลปินในสังกัดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เท่านั้น คาดว่าจะเปิดตัวอีก 4 รายการ หลังจากปีที่ผ่านมาได้ทดลองออกสินค้าไป 1 รายการแล้ว ได้แก่ น้ำหอมแบรนด์ COLOUR SOUL ของ เป๊ก-ผลิตโชค

นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปพูดคุยกับพันธมิตรค่ายเพลงต่าง ๆ ในการบริหารลิขสิทธิ์จากเดิมที่อยู่แค่ใน MP3 ให้ครอบคลุมทุกช่องทาง โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม และคาราโอเกะ และยังร่วมมือกับสื่อต่าง ๆ ทั้งทีวี วิทยุ สื่อนอกบ้าน โรงภาพยนตร์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนซื้อหรือควบรวมกิจการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมองหากิจการที่จะมาต่อยอดกับธุรกิจเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นโชว์บิซ และอีเวนต์

และการที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีพัฒนาเรื่องของการทำดาต้า และมีทีม data scientist ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ โดยเป้าหมายต่อจากนี้จะพัฒนาการใช้ดาต้าให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณโอกาสของการสร้างเพลงฮิต สร้างคอนเสิร์ตที่น่าจะ sold out หรือสร้างยอดขายที่แม่นยำ เป็นรูปธรรม ตลอดจนเข้าใจและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจซื้อของแฟนคลับ รวมถึงเรื่องพฤติกรรมของแฟนคลับที่

ชื่นชอบศิลปินมากกว่า 1 คน หรือแบรนด์สินค้าและสื่อที่แฟนคลับศิลปินชื่นชอบ จึงทำให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดการซื้อขายทั้งระบบการค้า

“แม้วันนี้เราจะมียอดการเจริญเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีติด แต่เราจะไม่ประมาทโดยเด็ดขาด เพราะคุณไพบูลย์ได้ย้ำถึงหลักคิดหนึ่งที่ว่า “อย่าผูกขาดรสนิยม อย่าย่ามใจในความสำเร็จ” สิ่งที่เราเฝ้าระวังจึงไม่ใช่แค่เรื่องของดิสรัปชั่น หรือเรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของ “คน” เราเป็น people business จะสำเร็จได้ล้วนต้องมีคนเก่งอยู่รอบตัวที่มีความสามารถ มีแรงใจ มีความกระหาย เราต้องคอยสังเกตการณ์และส่งเสริมศักยภาพของคนทำงาน เป้าหมายจะสำเร็จลุล่วงได้ต้องมีคนที่มีความสามารถลงมือทำ ฉะนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นจึงไม่ใช่แค่ความสำเร็จของบริษัท แต่เป็นความสำเร็จของทุกคน เราจึงจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

นายภาวิตระบุต่อไปอีกว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ในเชิงผลกระทบต่อธุรกิจยังมีไม่มาก เนื่องจากอีเวนต์อย่างงานคอนเสิร์ต หรืองานเฟสติวัล ส่วนใหญ่จะจัดในช่วงครึ่งปีหลังเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังตั้งเป้าหมายว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 10% ในสิ้นปี