ไม่หวั่นแม้วันห้างปิด แฟชั่น-อาหารปรับทัพสู้ไวรัส

หลัง กทม.และอีกหลายจังหวัดประกาศให้ศูนย์การค้าปิดทำการบางส่วน ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยาและร้านสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงปิดพื้นที่นั่งกินอาหารในร้านอาหาร-ร้านค้า ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องเร่งหาทางรับมือ แน่นอนว่ากลยุทธ์ยอดนิยมหนีไม่พ้นการพึ่งช่องทางออนไลน์-อีคอมเมิร์ซ เพื่อรับออร์เดอร์จากลูกค้า แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องการสร้างการรับรู้ การชิงลูกค้ากับห้าง-ผู้ค้าออนไลน์เดิม รวมไปถึงการบริหารจัดการพนักงานในสาขาต่าง ๆ ที่ต้องปิดชั่วคราว ซึ่งแต่ละบริษัทมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น โอนพนักงานไปยังสาขาที่ยังเปิด หรือให้สนับสนุนด้านดีลิเวอรี่เพื่อมาทดแทน เป็นต้น

กระหน่ำบุกอีคอมเมิร์ซ

สำหรับความเคลื่อนไหวของห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า ล่าสุด ทุกค่ายต่างเร่งสร้างการรับรู้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 มีนาคม) โดยเฉพาะเรื่องช่องทางอีคอมเมิร์ซที่แต่ละรายมีอยู่ ทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริการสั่งสินค้าผ่านแอปแชต รวมไปถึงโปรโมชั่นทั้งลดราคา ส่งด่วน-ส่งฟรี เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

เริ่มจาก “เซ็นทรัล รีเทล” ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และธุรกิจอื่น ๆ อย่างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพาเวอร์บาย สปอร์ตมอลล์ ฯลฯ ที่ได้เปิดช่องทางใหม่ “Call & Shop” หรือการสั่งซื้อด้วยการโทร.สั่ง เสริมกับบริการอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั้ง “Central Online” และ “Chat & Shop” ที่เป็นการสั่งซื้อผ่านแอปแชต พร้อมกับโปรโมชั่นส่งฟรีถึงบ้าน โดยไม่มีขั้นต่ำ จนถึง 30 เมษายนนี้ และส่งถึงบ้านใน 99 นาที หรือเลือกรับสินค้าแบบไดรฟ์ทรูได้หากใช้บริการ Call & Shop และ Chat & Shop รวมถึงงานลดราคามิดไนท์เซลถึงวันที่ 31 มีนาคมที่จะถึงนี้

นอกจากนี้แต่ละธุรกิจในเครือยังมีบริการไฮไลต์ของตนเอง เช่น ท็อปส์มีบริการส่งด่วนใน 2 ชั่วโมง เพาเวอร์บายส่งถึงมือใน 24 ชั่วโมง เป็นต้น

ส่วน “เดอะมอลล์” ได้เร่งโปรโมตบริการ Chat & Shop ของตนเอง พร้อมบริการส่งฟรี และเวลาเปิด-ปิดของสาขาต่าง ๆ รวมถึงได้จัดพื้นที่ใกล้ทางเข้า-ออกเป็นจุดบริการให้ร้านอาหารในศูนย์มาตั้งจุดรับออร์เดอร์-ส่งมอบสินค้า

โอน พนง.หนุนดีลิเวอรี่

ด้านร้านค้า-ร้านอาหาร ที่หลาย ๆ รายได้ทยอยปรับตัวรับมือมาก่อนช่วงหนึ่งแล้ว ถึงวันนี้จึงเป็นการประกาศปิด-ปรับรูปแบบการให้บริการของสาขาสร้างความชัดเจน ย้ำเชื่อมั่น พร้อมโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อชิงลูกค้า รวมถึงแจ้งแนวทางบริหารจัดการพนักงานของสาขาที่อาจต้องปิดชั่วคราว

โดยเฉพาะ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์เคเอฟซี ระบุว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาปิดบางสาขาในห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในทำเลที่ลูกค้า-พนักงานส่งอาหารเข้าถึงยาก พร้อมย้ายพนักงานในสาขาที่ปิดไปยังร้านที่ยังเปิดบริการ เพื่อช่วยสนับสนุนด้านดีลิเวอรี่หลังจำนวนการสั่งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากปิดพื้นที่รับประทานในร้านในสาขาที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดปริมณฑล ตั้งแต่วัน 22 มีนาคม แต่ยังรับออร์เดอร์สำหรับนำกลับบ้านอยู่ ทั้งการรับออร์เดอร์หน้าร้าน และการตั้งบูทในพื้นที่อื่นที่ศูนย์รวมถึงเปิด “บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส” อาศัยการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ Rabbit Line Pay และให้พนักงานเชิญลูกค้าหยิบถุงบรรจุอาหารออกจากกระเป๋าจัดส่งเอง และเว้นระยะห่างในการยืนรอ

ส่วน “แมคโดนัลด์” จัดโปรโมชั่นจัดส่งอาหารฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่กำหนด เมื่อใช้บริการแมคดีลิเวอรี่ผ่านทาง 1711, เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นของแมคโดนัลด์ ครบ 200 บาท และจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 ด้วยการจัดส่งแบบไร้การสัมผัสเช่นเดียวกัน ส่วนในสาขานั้นนอกจากปิดพื้นที่นั่งกินอาหารแล้ว ยังกำหนดจุดต่อคิวหน้าเคาน์เตอร์ บริเวณเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล

สำหรับ “เอ็มเค สุกี้” จัดโปรโมชั่นฟรีค่าจัดส่งเมื่อมียอดซื้อขั้นต่ำ 150 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง เฉพาะพื้นที่ให้บริการตั้งแต่ 23 มีนาคม-12 เมษายน หลังจากก่อนหน้านี้เปิดบริการห่อกลับบ้าน ขยายเวลากิจกรรมคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ชานมไข่มุก “Fire Tiger” ด้วยการเพิ่มสินค้าลอตพิเศษ ถึง 31 มีนาคม 2563 และลอนช์เมนูอาหารทานเล่นใหม่ ๆ หวังตอบโจทย์กระแสทำงานที่บ้านไปก่อนแล้ว

เช่นเดียวกับ “บาร์บีคิว พลาซ่า” ที่ปิดชั่วคราวบางสาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล เหลือให้บริการ 63 สาขานอกจากจะเปิดบริการส่งและห่อกลับบ้านแล้ว ยังขยายเวลาหมดอายุของ e-Voucher บาร์บีคิว พลาซ่า ที่ซื้อผ่านช้อปปี้และลาซาด้า ให้ใช้สิทธิ์ได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 ส่วน e-Voucher ชุดอิ่มจุใจ CEO ขยายวันหมดอายุไปเป็น 31 พฤษภาคม 2563

แฟชั่นงัดสารพัดรูปแบบสู้

และที่มีความเคลื่อนไหวรับกับกระแสไม่แพ้กันก็เห็นจะเป็นบรรดาแบรนด์แฟชั่นที่ดูจะเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องปรับตัวมากนัก เนื่องจากหลายแบรนด์มีช่องทางออนไลน์และทำโปรโมชั่นด้านนี้ต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงมีเพียงการประกาศปิดสาขาและเชิญชวนให้นักช็อปไปใช้บริการบนออนไลน์ อาทิ ยูนิโคล่, พีพีกรุ๊ป, ท็อปช็อป ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม มีบางแบรนด์ที่จัดโปรโมชั่นเพิ่มเติม หรือเพิ่มช่องทางขายใหม่ ๆ รับกับสถานการณ์ เช่น แมคยีนส์ ที่ประกาศปิดร้าน 103 สาขาใน 7 จังหวัด หันไปขายผ่านทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์แม็คช็อป เฟซบุ๊กแมคยีนส์และแม็คช็อป รวมถึงออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนไลน์ โดยมีโปรโมชั่นเข้ากับสถานการณ์อย่างซื้อสินค้าราคาปกติที่ร่วมรายการครบ 3,000 บาท รับประกันภัย COVID-19 ระยะเวลาคุ้มครอง 180 วัน จากบริษัททีคิวเอ็ม ส่วนแบรนด์ชุดชั้นใน “วาโก้” ได้เปิดให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ของบริษัท รวมถึง “สาววาโก้” ได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์

ขณะที่บางแบรนด์ที่มีโรงงานเป็นของตัวเอง ก็เริ่มหันผลิตหน้ากากผ้าป้อนเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น “จีคิว” ที่ชูหน้ากากนวัตกรรมผ้ายับยั้งแบคทีเรีย ส่วน “นารายา” มีหน้ากากทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ 2 ชั้น ดีไซน์และตัดเย็บให้โค้งรับกับรูปหน้า ด้าน “ซาบีน่า” ปรับการผลิตของโรงงานในจังหวัดยโสธร จากชุดชั้นในมาผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ซักได้

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ แต่ธุรกิจไทยยังคงเดินหน้ากันอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ ๆ ออกมารับมือ