แบรนด์ดังจิตอาสาสู้โควิด ปั๊มหน้ากากช่วยโรงพยาบาล

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลกไปแล้ว สถานการณ์นี้ยิ่งทำให้แนวโน้มการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่าง หน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 เพิ่มสูงขึ้น จนหลายโรงพยาบาลทั่วสหรัฐเริ่มใกล้จะเข้าสู่ภาวะขาดแคลน

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจแฟชั่นทั้งโรงงานและแบรนด์ต่างผนึกกำลังกันหันมาผลิตหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าป้อนให้กับโรงพยาบาล เพื่อยืดสต๊อกหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 ให้ใช้ได้นานขึ้น

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า แบรนด์แฟชั่น อาทิ “แก๊บ” (Gap) “ราล์ฟ ลอเรน” (Ralph Lauren) รวมถึงอีกหลายรายต่างปรับสายการผลิต เปิดโรงงานที่เคยปิดไป รวมถึงใช้เส้นสายทางธุรกิจที่มีระดมวัตถุดิบ เพื่อผลิตหน้ากากผ้ากันอย่างเร่งด่วน

โดย “แก๊บ อิงก์.” (Gap Inc.) บริษัทแม่ของแบรนด์แก๊บ, โอลนาวี (Old Navy), บานานา รีพับลิก (Banana Republic) และอื่น ๆ ได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจที่รวมพนักงานจากหน่วยงานต่าง ๆ

ของแต่ละแบรนด์ขึ้นเพื่อใช้เส้นสายซัพพลายเชนที่มีอยู่ทั่วโลก ช่วยจัดหาหน้ากากอนามัยและชุดคลุมป้องกันการติดเชื้อให้กับโรงพยาบาลแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับเตรียมใช้กำลังผลิตของโรงงานในเครือผลิตหน้ากากผ้าและชุดคลุมให้กับโรงพยาบาลด้วยอีกทางหนึ่ง

ไปในทิศทางเดียวกับ “ราล์ฟ ลอเรน” ที่เร่งเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากจากผ้าและชุดป้องกันจากโรงงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐขึ้นเป็น 2.5 แสนชิ้น และ 2.5 หมื่นตัว ตามลำดับ ด้านผู้ผลิตชุดกีฬารายใหญ่อย่าง “ฟานาติกส์” (Fanatics) ซึ่งปกติผลิตชุดกีฬาและเสื้อเชียร์ให้กับลีกกีฬาใหญ่อย่าง การแข่งขันเบสบอลเมเจอร์ลีก ก็ตัดสินใจหยุดผลิตชุดกีฬา และนำวัตถุดิบที่มีมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าและชุดคลุมป้องกันแทน รวมถึงได้ผู้จัดการแข่งเมเจอร์ลีกมาช่วยออกค่าใช้จ่ายในการผลิตอีก 1.5 ล้านเหรียญ

ส่วน “เอ็ดดี้บาวเออร์” (Eddie Bauer) ผู้ผลิตอุปกรณ์เอาต์ดอร์ ที่มีฐานอยู่ใกล้กับเมืองซีแอตเทิล ที่เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางของการระบาด ได้ปรับไลน์การผลิตมาผลิตหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัย เพื่อบริจาคให้กับรัฐ โดยมีเป้าส่งมอบหน้ากาก N95 ไม่น้อยกว่า 5,000 ชิ้นในสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1.5 หมื่นชิ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน

ขณะที่แบรนด์สัญชาติสหรัฐ อายุ 108 ปี อย่าง “แอล.แอล. บีน” (L.L. Bean) กำลังพัฒนาหน้ากากที่ใช้วัตถุดิบเดียวกับซับในของเตียงสุนัข และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพจาก “เอ็มไอที” หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ “สตีฟ สมิตท์” ประธานของ แอล.แอล. บีน กล่าวว่า ทีมงานของบริษัทมีความเชี่ยวชาญ ความคิดสร้างสรรค์และจิตสาธารณะ พร้อมเสียสละในช่วงยากลำบากนี้

แม้แต่แบรนด์จากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “แคนาดา กูส” (Canada Goose) แบรนด์แฟชั่นหรูจากแคนาดา ที่มีสินค้าขึ้นชื่ออย่าง เสื้อปาก้า หรือเสื้อคลุมกันหนาว-กันเปื้อน ราคาสูงถึง

1,000 เหรียญสหรัฐนั้น ก็เข้าร่วมขบวนการช่วยเหลือครั้งนี้ ด้วยการเปิดโรงงาน 2 แห่งในแคนาดาที่เคยปิดไปก่อนหน้านี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเดินสายการผลิตชุดผ่าตัด และชุดคลุม สำหรับบริจาคให้กับบุคลากรทางการแพทย์

“ดานี ริช” ซีอีโอของแคนาดา กูส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้บริจาคเงินเดือน 3 เดือน ตั้งกองทุนช่วยเหลือพนักงานของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสาขาชั่วคราว กล่าวว่า พนักงานของบริษัทมีความพร้อมและยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตามสไตล์ของชาวแคนาดา

ด้านกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ทั้งทาร์เก็ต (Target) โลวส์ (Lowe’s) และโฮม ดีพอต (Home Depot) ต่างเริ่มส่งหน้ากาก N95 และอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ ที่มีในคลังสินค้าไปให้กับบุคลากรทางการแพทย์ แทนการนำออกขาย แม้ตลาดจะยังมีดีมานด์สูงก็ตาม

“ไบรอัน คอแนล” ซีอีโอของทาร์เก็ต ระบุว่า บริษัทเริ่มส่งสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่รัฐวอชิงตันแล้ว เช่นเดียวกับโลวส์ ซึ่งบริจาคสินค้ามูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโฮม ดีพอต ออกนโยบายให้ส่งกลุ่มสินค้าจำเป็นให้กับโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเป็นอันดับแรก

ความร่วมมือนี้สะท้อนถึงการผนึกกำลังของภาคเอกชนในสหรัฐ เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤตไวรัสระบาด เช่นเดียวกับภาคเอกชนทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย

จากนี้ไปต้องลุ้นกันว่า ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่