ยกเครื่องเซ็นเซอร์โฆษณา ตามให้ทัน “ช่องทีวี” เพิ่มขึ้น

อุตฯโฆษณาผนึกกำลัง 4 สมาคมเสริมทีมใหญ่ ยกเครื่องระบบเซ็นเซอร์โฆษณารอบ 23 ปี ดีเดย์กรกฎาคมนี้

นางอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมและตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ช่องหลัก 3, 5, 7, 9 ได้ทำงานร่วมกันในเรื่องการเซ็นเซอร์โฆษณามาตั้งแต่ปี 2537 แต่ปัจจุบันช่องทีวีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้รูปแบบการทำงานของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ จึงต้องมีการปรับรูปแบบการทำงาน ล่าสุดร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมโฆษณารวม 4 สมาคม เช่น สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) สมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับยุคดิจิทัล

นายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการยกระดับมาตรฐานการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ พ.ศ. 2560 ว่า จะเริ่มต้นเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเพิ่มเป็น 4 คณะ จากเดิมที่มีเพียงคณะกรรมการเซ็นเซอร์เท่านั้น ได้แก่ 1.คณะกรรมการกำกับนโยบาย มาจากผู้บริหารของแต่ละสถานีโทรทัศน์ 2.คณะกรรมการสกรีนชิ้นงานโฆษณา จำนวน 4 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ทางสมาคมโฆษณาคัดเลือก 3.คณะกรรมการเซ็นเซอร์จาก 8 คนเป็น 10 คน โดยอีก 2 คนมาจากสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลช่องใหม่หมุนเวียนเข้ามาครั้งละ 2 คน

“เดิมมีบุคลากรที่ทำงานในการตรวจสอบโฆษณาเพียง 8 คน แต่ต้องตรวจโฆษณาประมาณ 4,000 ชิ้นต่อปี ขณะที่ช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นทำให้ปีก่อนต้องตรวจสอบโฆษณา เพิ่มเป็น 8,000 ชิ้นต่อปี และปัจจุบันเฉลี่ยที่ 10,000-12,000 ชิ้นต่อปี ซึ่งไม่สอดรับกับจำนวนชิ้นงานโฆษณาที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงร่วมยกระดับมาตรฐานเซ็นเซอร์โฆษณาใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่เจ้าของสินค้าและช่องทีวีด้วย”

สอดรับกับนายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า การปรับปรุงมาตรฐานโฆษณาครั้งนี้ มาจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เรื่องของกฎหมาย โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีกฎหมายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้การโฆษณามีความซับซ้อนมากขึ้น 2.องค์กรอิสระเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้สื่อต้องเข้มงวดในการกำกับดูแลกันเองมากขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสังคม 3.บุคลากรเซ็นเซอร์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับชิ้นงานโฆษณาที่มีมากขึ้น 4.ต้องปรับปรุงและยกเครื่องกระบวนการใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และ 5.ต้องมีความร่วมมือและสามัคคีกันมากขึ้นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปในมาตรฐานเดียวกัน