คอลัมน์ Market Move
หลังจากเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ได้กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในช่วงนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายบริษัททั่วโลกหันมาปรับกระบวนการผลิตบางอย่าง เพื่อรองรับการผลิตทั้งแอลกอฮอล์ เจลล้างมือไปจนถึงหน้ากากอนามัย
รายงานข่าวจาก “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ระบุว่า โรงกลั่นเหล้าในประเทศกัมพูชา พยายามที่จะปรับสายการผลิตให้สามารถรองรับกับความต้องการดังกล่าว โดยอาศัยวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วอย่างกากน้ำตาล (โมลาส) และมันสำปะหลัง เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับการผลิตเหล้า
เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ที่ขณะนี้มีโรงงานหลายแห่งหันมาปรับเครื่องไม้เครื่องมือ และระบบโอเปอเรชั่นใหม่ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูง อย่างเช่น “หน้ากาก” รวมถึง “เครื่องช่วยหายใจ” ได้
“แดเนียล ปาเซโก” ผู้ก่อตั้งโรงเหล้ารัม “Samai” ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา ระบุว่า “มันเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก” ในขณะที่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัทต้องชะงักเพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โรงเหล้า Samai และโรงเหล้าอื่น ๆ อย่าง Seekers Spirits ผู้ผลิตเหล้ารัมในกัมพูชา ได้ปรับแผนธุรกิจใหม่โดยหันมาเพิ่มน้ำหนักกับการผลิต ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม และส่งไปขายยังร้านค้าทั่วประเทศ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในช่วงนี้ต้องการสินค้าที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมากกว่า
“ปาเซโก” ชี้ว่า ในกระบวนการกลั่นนั้น สามารถผลิตแอลกอฮอล์ออกมาได้ 3 แบบ เป็นที่รู้กันในอุตสาหกรรม คือ ส่วนหัว (heads) หัวใจ (hearts) และหาง (tails) โดยส่วนหัว เป็นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนในกระบวนการผลิต นิยมเอามาใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และตอนนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ
“ไอเดียของการทำแอลกอฮอล์ล้างมือ มาจากการทำเรื่องที่พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้ว ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวง่ายขึ้น ในภาวะที่ผู้คนต่างพากันโก่งราคาของสินค้าเหล่านี้”
“มาโคร แอ็กเกิร์ท” ผู้ก่อตั้งโรงกลั่น Seekers ชี้ว่า บริษัทได้พูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาแนวทางในการใช้ศักยภาพของโรงกลั่นที่บริษัทในการช่วยซัพพลายวัตถุดิบให้กับภาครัฐ
“เราใช้วิธีการบาลานซ์ในสิ่งที่เราพอจะทำได้ เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมในภาวะเช่นนี้ และพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเราเอง”
นอกจากนี้โรงกลั่นทั้งคู่ ยังมีแผนที่จะบริจาคเงินจำนวนหนึ่ง จากรายได้หลังหักจากค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อช่วยในการต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ในกัมพูชาด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในกัมพูชาอยู่ที่ราว 100 คน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้ก็คือ จำนวนของขวด หรือภาชนะ ที่จะนำมาใช้ใส่สินค้าอย่างแอลกอฮอล์ล้างมือที่กัมพูชานั้นยังมีไม่เพียงพอ นอกจากจะหายากแล้ว ซัพพลายเออร์ขวดพลาสติกต่างพากันขึ้นราคาสินค้ามากกว่า 3 เท่าตัว
ด้านบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “ซันโตรี่” เองก็ได้ประกาศมาตรการ ที่จะสนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยโรงกลั่น “บีม ซันโตรี่” ที่ตั้งอยู่ในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา กำลังจะเดินเครื่องผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อส่งให้กับทางรัฐเคนทักกีเร็ว ๆ นี้และซันโตรี่กรุ๊ปยังเตรียมพร้อมที่จะผลิตแอลกอฮอล์ ในโรงงานผลิตอื่น ๆ ที่อยู่ในสเปนและแคนาดาอีกด้วย
ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนอย่าง “BYD Auto” ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลัก ก็ได้ปรับโรงงานมาผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผลิตไปแล้วกว่า 300,000 ขวด และกลายเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัย (surgical masks) ที่มีกำลังการผลิตกว่า 5 ล้านชิ้นต่อวัน
ในขณะที่ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะรายใหญ่ในฮ่องกง “Transport International Holdings” ก็มีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นการภายในก่อนในระยะแรก และหากมีกำลังการผลิตส่วนเกินก็จะส่งต่อให้กับหน่วยงานของท้องถิ่นต่าง ๆ ต่อไป
ที่ฟิลิปปินส์ บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่อย่าง “ซานมิเกล” ซึ่งมีโรงงานผลิตเหล้าจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้หันมาผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ 70% เพื่อนำไปบริจาคตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงมะนิลาด้วยเช่นกัน
ด้าน “ออปโป้” ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับที่ 5 ของโลก ก็ได้ลงทุนสร้างไลน์ผลิตหน้ากากอนามัยใหม่ขึ้นมา และตอนนี้ก็สามารถส่งออกไปช่วยเหลือในหลาย ๆ ประเทศแล้ว รวมถึง “ฟ็อกซ์คอนน์” ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ “แอปเปิล” ก็เปิดไลน์ผลิตหน้ากากอนามัยในโรงงานผลิตที่เสิ่นเจิ้นและซินเป่ย์ เพื่อซัพพอร์ตการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้นด้วย
“เอเชีย พัลป์ แอนด์ เปเปอร์” หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเยื่อและกระดาษที่ใหญ่ที่สุดของโลก ก็ออกมาระบุเช่นกันว่า
บริษัทได้สั่งเครื่องจักรสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยจากประเทศจีน เพื่อนำมาติดตั้งที่โรงงานแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียภายในเดือนหน้า โดยสามารถรองรับการผลิตได้ราว 1.8 ล้านชิ้นต่อเดือน
ดีมานด์ของเจลล้างมือแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอีกพักใหญ่ ๆ เราอาจเห็นผู้ประกอบการที่มีแต้มต่อในด้านการผลิต หันมาทำอะไรแบบนี้กันมากขึ้น