กวาด “เหล้า-เบียร์” ลงเชลฟ์ ขนสารพัดสินค้าเสียบสู้โควิด

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

การออกประกาศห้ามขายเหล้าเบียร์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่วันที่ 10-20 เมษายน รวมถึงประกาศของผู้ว่าราชการอีกหลาย ๆ จังหวัดที่ทยอยมีออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อหยุดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความสูญเสียที่จะกระทบในวงกว้าง ทำให้ช่องทางจำหน่าย “เหล้า-เบียร์” โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องปรับตัวตามประกาศอีกระลอก จากก่อนหน้านี้ที่ประกาศของทางการจะมุ่งไปที่การปิดสถานบริการ และจำกัดเวลาการขายของร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุด นอกจากภาพการกักตุนซื้อเหล้า-เบียร์ ชนิดยกลัง ยกแพ็ก จากไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต จนพนักงานเติมสินค้าแทบไม่ทัน เมื่อช่วงเย็นย่ำค่ำของวันที่ 9 เมษายน ก่อนประกาศ กทม.จะเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของช่องทางจำหน่าย โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการของทางการที่ต้องการลดการสังสรรค์ ดื่มฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จากการสำรวจท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า เชลฟ์ที่เคยวางจำหน่ายเบียร์ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน ส่วนเชลฟ์เบียร์ของค่ายเบียร์สิงห์ นอกจากจะขนเบียร์ออกทั้งหมดแล้วก็ได้นำโซดาสิงห์เข้าไปวางจำหน่ายแทน เช่นเดียวกับเชลฟ์เบียร์ช้าง ที่ได้นำเอาโซดาร็อกเมาน์เท่นเข้าไปวางจำหน่ายแทนเช่นกัน

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในย่านปิ่นเกล้า ที่ร้านทยอยเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากตู้แช่ทั้งหมด พร้อมกับขนเครื่องดื่มน้ำอัดลม-โซดา ไปวางจำหน่ายชนิดเต็มอัตราศึก

โดยเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นยังได้ขนเบียร์ เครื่องดื่มอาร์ทีดี ไวน์คูลเลอร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ทุกยี่ห้อ ออกจากตู้แช่ และนำน้ำอัดลม น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลังวางแทนรวมถึงเชลฟ์สุราไทยและต่างประเทศ ด้านหลังเคาน์เตอร์แคชเชียร์ ร้านได้เก็บเหล้านอก ไวน์ สุราไทย ลงจากเชลฟ์ และนำเครื่องดื่มชาเขียว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มันฝรั่ง ขึ้นไปวางแทนที่

เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อหลาย ๆ แห่งในย่านจังหวัดนนทบุรี พบว่า ทุกร้านได้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากตู้แช่หรือเชลฟ์วางจำหน่ายและนำสินค้าอื่น ๆ เข้าไปวางขายแทน

ด้าน “โลตัส เอ็กซ์เพรส” ที่เชลฟ์เบียร์นานาชนิดถูกแทนที่ด้วยน้ำอัดลม น้ำดื่ม และน้ำมันพืช ส่วนตู้แช่ของค่ายเบียร์ที่นำไปวางจำหน่ายในสาขาก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นตู้แช่เครื่องดื่มชาเขียวสารพัดยี่ห้อ น้ำส้ม น้ำอัดลม เป็นต้น ขณะที่พื้นที่สำหรับเหล้าไทย เหล้านอก บริเวณด้านหลังเคาน์เตอร์แคชเชียร์ก็ถูกทดแทนด้วยกาแฟ 3 อิน 1, มันฝรั่ง, ขนมขบเคี้ยว และนมสเตอริไลซ์ เป็นต้น

เรียกได้ว่าเป็นการ “ล็อกดาวน์” ห้ามขายชนิด 100% เลยทีเดียว

เป็นปรากฏการณ์ที่ต่างไปจากที่ผ่านมา เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น ที่มีเพียงการปิดป้ายประกาศ “งดจำหน่าย” เพื่อแจ้งให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการได้รับทราบเท่านั้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงร้านค้าส่งเหล้าเบียร์ที่ต้องปิดร้านตามประกาศของจังหวัดแต่ละจังหวัด

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเหล้าเบียร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย่างที่รับทราบกันดีว่า ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ (12 เมษายน) ที่ผ่านมา ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้มีประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว เพื่อลดการมั่วสุม และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา มีจังหวัดที่มีคำสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์เพียง 23 จังหวัด รวม กทม. โดยบางจังหวัดมีคำสั่งห้ามถึงแค่หลังเทศกาลสงกรานต์ ประมาณวันที่ 17-18 เมษายน และมีจำนวนหนึ่งที่ห้ามขายถึงวันที่ 20 เมษายน และหลายจังหวัดที่ห้ามยาวไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน

“ปกติช่วงสงกรานต์ ที่เป็นหน้าขายสำคัญ ยี่ปั๊วซาปั๊วจะสั่งออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อสต๊อกสินค้าให้ขาย แต่จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ประกอบกับผลพวงจากเศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังซื้อมีปัญหา ทำให้ยี่ปั๊วซาปั๊วไม่มีการสต๊อกสินค้าไว้เหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ทุกคนขอแค่ประคับประคอง ขายได้เท่าที่ขาย ซึ่งในภาพรวมเชื่อว่ายอดขายเดือนเมษายนจะลดลงมาก แต่เบื้องต้นคงไม่สามารถคาดการณ์หรือประเมินตัวเลขได้”

สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะกระทบกับผู้ประกอบการทุกราย แต่เป้าหมายสำคัญคือ การหยุดการแพร่ระบาดโรคให้ได้ ทุกคนก็ต้องประคับประคองให้ผ่านไปให้ได้และเป็นที่น่าสนใจว่า การที่ผู้ประกอบการจะเอาสินค้าของตนเข้าไปวางบนเชลฟ์ในช่องทางค้าปลีกต่าง ๆ นั้น ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น การที่สินค้าถูกถอดออกจากเชลฟ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการเหล้าเบียร์ยังจะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับค้าปลีกหรือไม่ และสินค้าที่ได้พื้นที่เพิ่มเติม จะนำมาซึ่งรายจ่ายอีกก้อน เพื่อแลกกับการมองเห็นแบรนด์ (brand visibility) ในยามที่ทุกคนต่างพยายามคุมค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่