ดัดหลังบริษัทเหล้าเบียร์นำเข้า บี้ภาษีย้อนหลัง-สำแดงราคาต่ำปรับหนัก

สะเทือนทั้งบาง “เหล้า-เบียร์” นำเข้าสำแดงราคาต่ำเกินจริง หวั่นโดนเช็กบิลย้อนหลัง หลังภาษีใหม่เปลี่ยนใช้ฐาน “ราคาขายปลีก” ตรวจสอบง่าย ดัดนิสัยผู้ประกอบการหัวหมอ ชี้มีบางรายใช้วิธีปิดบริษัทเก่าแล้วตั้งใหม่ ล้างกระดาน หนีการถูกตรวจสอบ

แหล่งข่าวจากวงการเหล้าเบียร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือการเปลี่ยนเกณฑ์การคิดภาษี จากราคาหน้าโรงงาน ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และราคาสำแดงนำเข้า (ซีไอเอฟ) มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำก่อนคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งก็คือราคาที่คิดกับผู้บริโภคทั่วไปรายสุดท้ายในตลาดปกติ เช่น โมเดิร์นเทรด เทรดิชั่นนอลเทรดต่าง ๆ

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ของกรมสรรพสามิตดังกล่าว จะทำให้ผู้นำเข้าที่เคยแจ้งราคาซีไอเอฟต่ำ ๆ จะต้องเจอภาระภาษีที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศบางราย ที่เคยสำแดงราคาต่ำเกินกว่าความเป็นจริงมาก ๆ อาจจะถูกตรวจสอบ เนื่องจากราคาฐานการคำนวณภาษีใหม่และเก่ามีความแตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นการแสดงถึงการจงใจเลี่ยงภาษี หรือแจ้งต้นทุนต่ำเพื่อให้เสียภาษีจำนวนน้อย ๆ ในช่วงก่อนหน้านี้

“ตอนนี้เริ่มมีภาพความเคลื่อนไหวของอิมพอร์ตเตอร์เหล้าเบียร์บางรายใช้วิธีปิดบริษัทเก่า แล้วตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบย้อนหลัง ทริกของผู้นำเข้าก็คือ จะมีการตั้งบริษัทเอาไว้ 2 แบบ คือ บริษัท ก. ทำหน้าที่นำเข้า บริษัท ข. ทำหน้าที่ขาย สมมุติบริษัท ก. สำแดงว่านำเข้ามา 10 บาท ขายให้ ข. 12 บาท แต่เอาไปขายให้ผู้บริโภค หรือช่องทางทั่วไป 100 บาท ทำให้เสียภาษีต่ำกว่าผู้ประกอบการในประเทศบางรายที่เคยใช้ฐานราคาขายจากหน้าโรงงานเสียอีก ล่าสุดมีบางรายที่ถูกกรมสรรพสามิตเรียกไปชี้แจงแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ระบุว่า เกณฑ์การคิดราคาขายปลีกแนะนำจากกรมสรรพสามิต มีวิธีการคิดจากราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไปที่ปรากฏบนสินค้า สิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ รายการราคา หรือราคาที่ได้แจ้งไว้กับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยกรมสรรพสามิตจะพิจารณาจากต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐาน โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนกรณีของสินค้านำเข้า จะพิจารณาจากต้นทุนการนำเข้าสินค้า ได้แก่ ราคาซีไอเอฟ อากรศุลกากร และค่าใช้จ่ายอื่นที่ใช้ในการดำเนินพิธีการศุลกากร

หากผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้าแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่า 95% ของราคาฐานนิยม (ราคาขายปลีกที่พบมากที่สุดในตลาดปกติของสินค้านั้น) หรือ 85% ของราคาขายปลีกสูงสุดในช่องทางปกติ ในกรณีที่ไม่สามารถหาราคาฐานนิยมได้ จะถือว่าเป็นราคาขายปลีกที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะใช้ราคาขายปลีกสูงสุดในตลาดปกติที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแทน