หลัง”ไวรัส”คนไทยกังวลเศรษฐกิจ งดจ่ายหนัก-ช็อปออนไลน์รุ่ง

โทรศัพท์มือถือ
Hand hold mobile phone and using augmented reality ( AR ) app for see promotion sale in supermarket store,Digital lifestyle Technology concept

วันเดอร์แมนฯ-นีลเส็น เผยผลสำรวจคนไทยหลังวิกฤตโควิด-19 พฤติกรรมเปลี่ยน กังวลเศรษฐกิจ-การเงิน-ปากท้อง ลดความถี่การจับจ่าย เบรกซื้อรถยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ท่องเที่ยว สินค้าอุปโภคบริโภคของจำเป็นโล่ง นโยบายรักษาระยะห่าง-เวิร์กฟอร์มโฮม ทำคนหันมาพึ่ง “ออนไลน์” จับจ่าย แนะปรับแผนรับมือ เร่งทำตลาด-หวังสร้างแบรนด์ เพิ่มดีกรีออนไลน์ควบคู่ออฟไลน์ กระหน่ำโปรโมชั่นเพิ่มโอกาสการขาย

นางสาวมัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุด วันเดอร์แมน ธอมสัน ได้ร่วมกับแดทเทล สำรวจพฤติกรรมการซื้อของคนไทย จำนวน 1,243 คน ซึ่งพบว่าผู้บริโภคคนไทยมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจการเงินมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเชื่อว่าไวรัสจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากการศึกษาผลกระทบเชิงลึกยังพบว่า กลุ่มสินค้าที่ใช้ความพยายามในการซื้อน้อย (low involvement) โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้บริโภคยังมีการซื้อในปริมาณเท่าเดิมหรือมากขึ้น โดยมีขนาดของสินค้าใหญ่ขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น

สำหรับสินค้าที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ (high involvement) อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน การประกัน และการท่องเที่ยว พบว่า ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อลดลงทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน ใช้ “ความจำเป็น” ในการตัดสินใจซื้อมากที่สุด เนื่องจากมีรายได้และการใช้จ่ายที่จำกัด ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาท ให้ความสำคัญกับ “ความคุ้มค่าในการลงทุน” มากที่สุด

ดังนั้น แบรนด์หรือสินค้าไม่ควรหยุดทำการตลาด เพื่อให้อยู่ในสายตาของผู้บริโภค พร้อมกับพัฒนาช่องทางอีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับช่องทางออฟไลน์ เพื่อกระจายสินค้าไปให้ครบในทุกช่องทาง โดยนอกจากจะสื่อสารเรื่องของแบรนด์แล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสนใจว่าสินค้านั้น ๆ จะช่วยให้ความเป็นอยู่การใช้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้ สินค้าหรือแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องวางแผนในการสื่อสารต่างกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของสินค้า ส่วนผู้ที่มีรายได้มากต้องแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่จะลงทุน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการขาย ด้วยการทำโปรโมชั่น อาทิ เงินมัดจำ ผ่อน 0% ส่วนลดพิเศษ เป็นต้น ตลอดจนการวางแผนฟื้นฟูหลังจากนี้

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า การเข้าไปใช้บริการของผู้บริโภคในธุรกิจค้าปลีกและการบริการ (retail & services) มีความถี่ที่ลดลง อาทิ ร้านชำ ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านเพื่อความบันเทิงและการผ่อนคลาย ร้านความงามและสุขภาพ และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และสถานีบริการน้ำมัน ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนร้านเพื่อความบันเทิงและการผ่อนคลาย ร้านกิจกรรมเพื่อสุขภาพ และร้านอาหารได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นผู้ให้บริการจึงต้องสร้างฐานลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้ยังคงกลับมาใช้บริการปกติ ขณะที่ธุรกิจบางประเภทอาจจะต้องหยุดให้บริการ แต่ก็ควรที่จะมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาแบรนด์เปอร์เซปชั่นเอาไว้ เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแบรนด์จะได้อยู่ใน top of mind เช่นเดิม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันเดอร์แมนฯ ยังกล่าวด้วยว่า จากนโยบายให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึง social distancing โดยเว้นระยะห่างระหว่างกัน ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทุกแบรนด์จึงควรที่จะสร้างโอกาสใหม่ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล และหากแบรนด์ต่าง ๆ มีความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคและปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้แบรนด์นั้นสามารถพลิกจากวิกฤตเป็นโอกาสได้

ขณะที่นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน LIVE EVENT LINE FOR BUSINESS ภายใต้หัวข้อ “พฤติกรรมผู้บริโภคไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังสถานการณ์โควิด-19” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยภาคธุรกิจต้องปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อจีดีพี ซึ่งอาจจะติดลบ 5% นอกจากนี้ จากปัญหาภัยแล้ง การไม่มีงานทำ และภาวะหนี้สิน ยังส่งผลให้ผู้คนกังวลเรื่องปัญหาปากท้องมากขึ้น และทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ จากการทำงานอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจาย ยังส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ เช่น ผู้สูงอายุก็นิยมซื้อสินค้าออนไลน์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็ทำให้บริการดีลิเวอรี่เติบโตมากขึ้น และผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นก่อนสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโลคอลแบรนด์ รวมทั้งผู้บริโภคยังหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้ามากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซเข้ามาใช้ในธุรกิจ เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มจะโตอย่างต่อเนื่อง และจะกลายเป็น new normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่

“นอกจากนี้ กักตัวอยู่บ้าน และการทำงานจากที่บ้าน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อและการบริโภคของผู้คนไปเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น และมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นสื่อหลักหรือเมนสตรีม ในการรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าสื่อหลัก หรือเฉลี่ยประมาณ 12 ครั้ง/วัน ดังนั้น สินค้าหรือแบรนด์ต้องไม่ทำการตลาดแนวเดิม ๆ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และขยายช่องทางจากออฟไลน์เป็นออนไลน์”