โรงพยาบาลเอกชนเข้า ICU ต่างชาติหายคนไข้ลด 40%

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

กระทบยกแผง โรงพยาบาลเอกชนโอดพิษไวรัสโควิด-19 ทุบยอดคนไข้ร่วงระนาว คาดตัวเลขลดลงเบาะ ๆ 30-40% คนไข้ตื่นกลัวไม่อยากเข้า รพ.-มาตรการล็อกดาวน์ทำลูกค้าต่างประเทศหาย หวั่นลากยาว คาดไตรมาส 2 ยังหนัก ดิ้นปรับตัวลดค่าใช้จ่าย เบรกโอที-ผู้บริหารลดเงินเดือน “บำรุงราษฎร์-กรุงเทพ-สมิติเวช” ทยอยงัดบริการใหม่เสริมรายได้ จับตาโรงใหม่ปรับแผน-เลื่อนเปิด

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความตื่นกังวลของประชาชนที่เกิดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบกับธุรกิจโรงพยาบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนคนไข้ที่ลดลง ทั้งคนไข้นอก และคนไข้ใน เนื่องจากคนไข้ หรือผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีความกังวลและไม่ต้องการจะเข้ามาใช้บริการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเกรงว่าจะไปรับเชื้อกลับมา ประกอบกับโรงพยาบาลเองก็มีมาตรการการควบคุมและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด โดยมีการชะลอหรือยกเลิกการผ่าตัด บางแห่งก็มีการหยุดบริการในส่วนของคลินิกทันตกรรม เป็นต้น

คนไข้ตื่นกลัว-งดเข้า รพ.

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า จำนวนคนไข้ที่ลดลงดังกล่าวเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลาย ๆ เดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมาถึงเดือนมีนาคมจนถึงขณะนี้ (เมษายน) ซึ่งโดยรวม ๆ ตัวเลขคนไข้ที่ลดลงเฉลี่ยน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30-40% และจากจำนวนคนไข้ที่ลดลงดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งต้องเร่งปรับตัวทั้งในแง่ของการพยายามควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีความเข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการพยายามนำกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ชดเชยรายได้ที่หายไป”

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า จำนวนคนไข้ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นลูกค้าทั่วไป หรือผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาล และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด และคนไข้ที่ลดลงอย่างชัดเจนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศได้มีการออกคำสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางมาประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลไทยก็มีการควบคุมการเข้าออกประเทศที่เข้มงวด รวมทั้งมีการประกาศล็อกดาวน์และปิดสนามบิน ซึ่งภาพนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักมากกว่า 65% เป็นชาวต่างประเทศ หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็มีสัดส่วนคนไข้ชาวต่างประเทศประมาณ 30%

“เบื้องต้นคาดว่าสถานการณ์นี้อาจจะกระทบไปถึงไตรมาส 2 เพราะตอนนี้ประชาชนทั่วไปมีความตื่นกลัวโควิด-19 มาก และไม่อยากมาโรงพยาบาล หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็จะเลื่อนการไปพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล ซึ่งภาวะเช่นนี้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งเป็นเหมือนกันหมด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป”

งัดบริการใหม่เสริมรายได้

ผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากจำนวนคนไข้ทั้งคนไข้ต่างประเทศและคนไข้ในประเทศที่ลดลง ซึ่งลากยาวมาเกือบ 3 เดือน ส่งผลกระทบในเรื่องของรายได้ของโรงพยาบาลค่อนข้างมาก และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกจะเป็นอย่างไร และจากการพูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง ขณะนี้ทุกโรงหันมาให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่าย เช่น การลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ทั้งพนักงานและพยาบาล หรือบางแห่งทีมผู้บริหารก็พร้อมใจลดเงินเดือนลงจำนวนหนึ่ง เป็นต้น

“หลัก ๆ ก็เพื่อประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ เพราะสถานการณ์แบบนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก คงต้องรอให้การแพร่ระบาดคลี่คลายลงก่อน ซึ่งตอนนี้ปัญหาหลัก คือ คนไม่อยากมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และยังตื่นกลัวไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้จะเสร็จ หรือที่เตรียมจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ อาจจะต้องทบทวนแผนใหม่ หรืออาจจะเลื่อนการเปิดออกไปอีกสักระยะหนึ่ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีความเคลื่อนไหวในการเพิ่มบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเปิดบริการตรวจโควิด-19 ในระบบไดรฟ์ทรู รวมถึงการทำการตลาดผ่าน digital marketing มากขึ้น เช่น บำรุงราษฎร์ การเพิ่มบริการ vital-life immune booster ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะช่วงฝุ่น PM 2.5 และช่วงโควิด-19, บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่มีทั้งการบริการที่โรงพยาบาลในราคาพิเศษ และมีบริการรับฉีดวัคซีนถึงที่บ้าน สำหรับลูกค้ากังวลไม่อยากไปโรงพยาบาล จากก่อนหน้านี้ที่มีบริการแพ็กเกจตรวจหาไวรัสโควิด-19 และบริการเฮลท์เรสิเดนซ์ ที่พักสำหรับกลุ่มที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ และผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นต้น

ขณะที่สมิติเวชก็เปิดให้บริการแบบวิดีโอคอล Virtual COVID-19 Clinic เป็นบริการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ตลอด 24 ชม. สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือมีความเสี่ยง

รวมทั้งมีบริการส่งยาให้ฟรีถึงที่บ้าน พร้อมได้ส่วนลดค่ายา 20% ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพที่ผ่านมาลอนช์แพ็กเกจ “ไทยช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ให้ส่วนลด 50% สำหรับค่าห้องพักผู้ป่วยใน หออภิบาลผู้ป่วยกึ่งวิกฤต และหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต และส่วนลด 30% ล่าสุดเพิ่งมีบริการ Bangkok Hospital Delivery ด้วยบริการปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ พร้อมอำนวยความสะดวกบริการรับเจาะเลือดและจัดส่งยาให้คนไข้ถึงบ้าน เป็นต้น

หวั่นโควิด-19 ยืดเยื้อ

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รายงานบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (22 เมษายน 2563) ว่า มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยชะลอตัวลง คาดว่ารายได้จะเติบโตในระดับหลักเดียวในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และลดลงสองหลักในเดือนมีนาคม โดยการลดลงในเดือนมีนาคม ส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยในตะวันออกกลาง ซึ่งคิดเป็น 5% ของรายได้ทั้งหมด และการผ่าตัดในเคสที่ไม่รุนแรงของผู้ป่วยชาวไทยเลื่อนออกไป

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยจะลดลงกว่าเดิมในไตรมาส 2/63 เนื่องจากการล็อกดาวน์ โดยรายได้ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทยลดลง 50% และ 10% ตามลำดับในไตรมาส 2/63 และคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติในไตรมาส 4/63 และผู้ป่วยต่างชาติจะเริ่มกลับสู่ระดับปกติในปี 2564

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ได้นำเสนอบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (5 มีนาคม 2563) ว่า ผู้บริหารบำรุงราษฎร์คงเป้ารายได้ปี 2563 ทรงตัวถึงหดตัว 2% แต่อาจมีปรับแก้ใหม่อีกครั้ง หากโควิด-19 ยืดเยื้อ โดยในงวด 2 เดือนแรกของปี 2563 รายได้ลดลงราว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา จากสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยต่างชาติที่บินมารักษาสูงถึง 55% เชื่อว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศห้ามประชาชนเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นแหล่งรายได้หลักของบำรุงราษฎร์

นอกจากนี้ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังได้วิเคราะห์หุ้นบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (3 มีนาคม 2563) ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะฉุดรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปเติบโตไม่สููงมากนัก โดยรายได้ผู้ป่วยทั่วไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังเติบโตในระดับ high single digit ขณะที่รายได้เดือนกุมภาพันธ์ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่วนรายได้ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล อินเตอร์เนชั่นแนล (WMC) ซึ่งมีฐานรายได้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยต่างชาติ 2 เดือนแรกยังเติบโต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ในระยะถัดไป WMC น่าจะได้รับผลกระทบจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ห้ามประชาชนเดินทางมายังประเทศไทย จากผลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้จากประกันสังคมของบางกอก เชนฯ ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 12% จากการปรับอัตราเหมาจ่ายของสำนักงานประกันสังคม และจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น