โควิดฉุดตลาดเครื่องสำอาง ยอดขายลอรีอัลไตรมาส 1 วูบ 4.8%

มาแรง - ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เช่น คีลส์ ลังโคม จึงมียอดขายเติบโตสวนทางกับตลาด

ลอรีอัล เผยโควิด-19 ทำตลาดเครื่องสำอางหดตัว 8% ด้านบริษัทยังแกร่งหลังดีมานด์สกินแคร์-เวชสำอาง-อีคอมเมิร์ซช่วยหนุน ผลประกอบการดีกว่าตลาดรวม

นายฌอง-ปอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ภาครัฐต้องออกมาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ หลาย ๆ ร้านต้องปิดตัวลง และทำให้อัตราการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและความงามลดลง ส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางปรับตัวลดลง -8% โดยลอรีอัลยังสามารถทำธุรกิจได้ดีกว่าตลาดรวมท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก

สำหรับผลประกอบการของลอรีอัลในไตรมาส 1 ปี 2563 มียอดขายลดลง -4.8% แบ่งเป็นยอดขายตามภูมิภาค ยุโรปตะวันตก ลดลง -7.7%, อเมริกาเหนือ ลดลง -4.8%, ยอดขายในละตินอเมริกา เพิ่มขึ้น +0.8%, ยุโรปตะวันออก ลดลง -1.4%, แอฟริกาและตะวันออกกลาง ลดลง -5.6% และยอดขายในเอเชีย-แปซิฟิก ลดลง -3.7%

โดยแต่ละแผนกธุรกิจมีความผันผวนต่างกัน เริ่มจากแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง (L’OREL luxe) และแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ (professional products) ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านขายน้ำหอม และร้านทำผม ในหลายประเทศ สวนทางกับแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ยอดขายกระทบน้อยกว่า เพราะในตลาดค้าปลีกยังมีลูกค้าระดับแมสจับจ่ายอยู่

ขณะเดียวกัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เมกอัพ ส่วนสกินแคร์และน้ำหอมกลับปรับตัวได้มากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขอนามัยมากขึ้น ดังนั้น แบรนด์ใหญ่ ๆ ของบริษัทที่มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์สกินแคร์สูง เช่น คีลส์ ลังโคม จึงมียอดขายเติบโตสวนทางกับตลาดอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งการเปิดตัวน้ำหอมในปี 2562 ที่ผ่านมายังรักษาการเติบโตไว้ได้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ จิออร์จิโอ อาร์มานี่ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์และราล์ฟ ลอเรน เป็นต้น

ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง มียอดขายเติบโตขึ้นในอัตราเลขสองหลัก เพราะช่องทางจำหน่ายในร้านขายเวชภัณฑ์ยังคงเปิดให้บริการอยู่ โดยการเติบโตมาจากการปรับใช้ช่องทางดิจิทัล หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่าย โฟกัสแบรนด์ลา โรช-โพเซย์ ในการผลิตเจลล้างมือ และนำไปแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์

ด้านตลาดในจีนตั้งแต่มีประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์หลังการแพร่ระบาด ทำให้ร้านค้าจำนวนมากต้องปิดทำการ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจในเดือน ก.พ. แต่เมื่อถึงเดือน มี.ค.

ลอรีอัลมียอดขายเพิ่มขึ้น และได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นด้วยแรงหนุนจากแบรนด์ลอรีอัล ปารีส ลังโคม สกินซูติคอลส์ เฮเลนา รูบินสไตน์ 3CE และเคเรสตาส รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและความงามของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ ดังนั้น ตลาดจึงน่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในทันทีที่มีการยกเลิกมาตรการปิดร้านค้า

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ออกมาตรการงดการเพิ่มจำนวนพนักงานทั่วโลก ระงับการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจและการลงทุนอย่างรัดกุม เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศ

และยังสร้างความเชื่อมั่นและการปกป้องพนักงานของบริษัท โดยจัดทำโครงการด้านความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับผู้บริโภค พาร์ตเนอร์ และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข พร้อมเตรียมมาตรการด้านเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพที่เป็นร้านซาลอนรายย่อยให้สามารถเลื่อนการชำระหนี้ได้ จากภาวะการขาดแคลนกระแสเงินสดที่ลูกค้าอาจกำลังเผชิญอยู่จนกว่าธุรกิจของร้านซาลอนจะฟื้นคืนกลับมา