‘สหพัฒน์’ ปรับเกมสู้โควิด-19 เบรกลงทุนใหม่-มุ่งรักษาการเติบโต

สัมภาษณ์

ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 บวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก จึงเป็นโจทย์ยากที่หลาย ๆ ธุรกิจจะต้องฝ่าฟันให้ผ่านพ้นอุปสรรคใหญ่นี้ไปให้ได้ เช่นเดียวกับ “สหพัฒนพิบูล” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย ที่มีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านต่อปี และถือเป็นธุรกิจเสาหลักของเครือสหกรุ๊ป ที่ต้องดูแลและคอยขับเคลื่อนบริษัทย่อยกว่า 300 แห่ง ล่าสุดได้ประกาศปรับยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ พร้อมรัดเข็มขัดกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ถึงมุมมองและการเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคร้าย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการปรับตัวพลิกกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้และประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

Q : เทียบวิกฤตโควิด-19 กับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อช่วงปี 2540 แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ถือว่ายากลำบากที่สุด จากที่เคยผ่านมาหลายเหตุการณ์ ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือโรคระบาดอหิวาตกโรค หรือกาฬโรค ล่าสุดได้มาเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจากยุคต้มยำกุ้งที่เกิดวิกฤตการเงิน ที่ส่งผลกระทบแค่บางประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขของเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะผ่านพ้นไปได้ เพียงแต่ต้องรอการพัฒนาวัคซีน การพัฒนายา เพื่อรักษาไวรัสโควิด-19อีกด้านหนึ่ง การที่เราจะผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น จึงต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า การขยาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จะทำให้กระบวนการทำงานของรัฐบาลรวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันต้องผ่อนปรนให้ธุรกิจบางประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม ฯลฯ กลับมาเปิดให้บริการได้ เนื่องจากธุรกิจหรือบริการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของประชาชน

และสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ เพิ่มมาตรการความปลอดภัยตามที่ภาครัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำ หรือกำหนด เริ่มตั้งแต่การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การจำกัดจำนวนคนเข้าร้าน สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงอาจจะต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่เชื้อมีได้อย่างรวดเร็ว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นอีก

Q : เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวลในเวลานี้ก็คือ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ในมุมมองของผม คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ อาจจะติดลบ 6% และกว่าสถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัว อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปี หรืออาจจะยาวไปถึง 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือ การสร้างความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวให้กลับมา ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ โดยธุรกิจที่จะฟื้นตัวเร็วสุด หลัก ๆ น่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร อาหารพร้อมทาน และอาหารแช่แข็ง เนื่องจากเป็นปัจจัย 4 ของการดำเนินชีวิต

Q : สเต็ปต่อไปของสหพัฒน์จะไปในทิศทางไหน

สำหรับสหพัฒน์ สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ คือ ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหลัก ๆ จะเริ่มจากลดต้นทุนจากซัพพลายเชน ตั้งแต่การผลิตจากโรงงานจนถึงการส่งถึงมือลูกค้า การลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและโฆษณาต่าง ๆ ที่ทำแล้วไม่ได้ผลและไม่ส่งผลต่อยอดขายทิ้งไป โดยนำงบฯส่วนนี้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจะได้ประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ ในแง่ของการลงทุนในช่วงจากนี้ไป บริษัทต้องมีความรอบคอบและต้องคุ้มค่าในระยะยาวเป็นสำคัญ

แต่อีกด้านหนึ่ง บริษัทจะยังมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ผงซักฟอกเปา ยาสีฟันซิสเท็มมา เป็นต้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการผลิตเจลล้างมือสำหรับฆ่าเชื้อโรคที่ตอนนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นเท่าตัว

นอกจากนี้ สหพัฒน์ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค จากเดิมที่เรามีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปเราจะให้น้ำหนักกับช่องทางนี้มากขึ้น ล่าสุดได้นำสินค้าในเครือกว่า 100 แบรนด์ มาจัดโปรโมชั่นพิเศษ โดยจำหน่ายผ่าน www.ethailandbest.com ทำให้ลูกค้าซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในเครือสหพัฒน์ได้รวดเร็วและคุ้มค่าขึ้น

ปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคของสหพัฒน์มียอดขายเติบโตขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนและจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยรายได้หลัก ๆ ยังมาจากช่องทางร้านค้า ส่วนช่องทางออนไลน์จะเข้ามาช่วยเสริมเท่านั้น อีกทั้งยังต้องรับมือกับการแข่งขันสูง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์และซัพพลายเออร์สินค้าทุกประเภทเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากระตุ้น โดยเฉพาะโปรโมชั่นลดราคาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ กระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภค

ดังนั้น สิ่งที่สหพัฒน์ต้องทำต่อจากนี้ไป ต้องเดินหน้าพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องให้ถูกที่ถูกทาง และมีความแม่นยำและตรงกับความต้องการผู้บริโภค

Q : ในสถานการณ์เช่นนี้ สหพัฒน์ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนอย่างไรหรือไม่

ด้านการลงทุน หลัก ๆ ในเวลานี้ยังทำตามแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงการสร้างแวร์เฮาส์ ระบบโลจิสติกส์ และช่องทางการจัดจำหน่าย มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเพิ่มพื้นที่ คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จภายในสิ้นปี 2563 โดยจะเข้ามาเสริมทัพกับคลังสินค้าที่ปัจจุบันมีทั้งคลังเล็กและใหญ่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ และมีพื้นที่เก็บสินค้าเต็มแล้วทุกพื้นที่

ส่วนการลงทุนใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาได้วางแผนมาเป็นระยะ ๆ และอยู่ในกระบวนการแล้ว แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอไว้ก่อน

ทั้งนี้ จากแนวทางและยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ปีนี้สหพัฒน์ตั้งเป้าการเติบโต 6% ตอนนี้ไม่ได้หวังเติบโตแบบก้าวกระโดด เพียงแต่ต้องรักษาการเติบโตที่มีอยู่ให้ได้ต่อเนื่อง