โควิดปลุก “เมดิคอลทัวริสซึ่ม” ตปท.จ่อเข้าไทย-โอกาสทอง รพ.เอกชน

นายแพทย์บุญ วนาสิน

“หมอบุญ” คาดโควิด-19 ปลุกเมดิคอลทัวริสซึ่มบูม หลังไทยรับมือเจ๋งติดอันดับ 6 ของโลก พร้อมสร้างดีมานด์ดูแลสูงวัยกลุ่มเสี่ยง แย้มเพื่อนบ้าน-ตะวันออกกลางรอคิวเข้าไทยหลังเปิดประเทศ แต่ต้องจับตาต้นทุน รพ.เอกชนพุ่ง ผุดแผนดึงเทคโนโลยีเอไอ-เทเลเมดิซีน ผู้ป่วยวอล์กอิน พร้อมเน้นบริการสุขภาพ-ป้องกันโรครับมือผู้ป่วยต่างชาติลด

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางของธุรกิจสถานพยาบาล หลังเหตุการณ์โควิด-19 ว่า จากความสำเร็จของไทยในการควบคุมจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง และผู้ติดเชื้อที่รักษาหาย จนได้รับการประเมินความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก จะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติ และย้ำภาพเมดิคอลฮับของอาเซียนให้เด่นชัดขึ้น

โดยส่วนตัวเชื่อว่า หลังจากนี้จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในไทย หรือเมดิคอลทัวริสซึ่ม จะเติบโตขึ้นจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเติบโตเพียง 7-8% ต่อปี หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่เคยเติบโตถึง 15-18% ต่อปี โดยผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในตะวันออกกลาง ถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการประสานงานจากสถานทูตในตะวันออกกลางขอนำผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย หลังยกเลิกมาตรการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสถานพยาบาลเอกชน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็สร้างความท้าทาย โดยเฉพาะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการ-อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น ตัวกรองอากาศ ระบบฆ่าเชื้อ ฯลฯ จากเดิมที่จะมีเฉพาะในห้องผ่าตัด-ห้องทำฟัน เนื่องจากอาจมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการแฝงอยู่ เช่นเดียวกับฝั่งผู้บริโภคที่จะระมัดระวัง และมีวินัยในการรักษาสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดกิจกรรมนอกบ้าน และรักษาระยะห่างทางสังคม

ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการต้องนำนวัตกรรมทางการแพทย์ และกระบวนการการทำงานใหม่ ๆ มาปรับใช้ อาทิ เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อ เทคโนโลยีลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล ฯลฯ ตลอดจนเกิดบริการใหม่ ๆ เช่น เทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล, บริการส่งยา หรือฉีดวัคซีนที่บ้าน เป็นต้น

สำหรับกลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์จะมุ่งปรับการให้บริการเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมุ่งลดจำนวนและระยะเวลาที่ผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลลง 50% เช่น ลดจาก 6 ครั้ง เหลือ 3 ครั้ง หรือนัดให้มาก่อนเวลาเพียง 30 นาที จากเดิม 60 นาที เพื่อลดความหนาแน่นภายในโรงพยาบาล ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เอไอช่วยวินิจฉัยโรค, เทเลเมดิซีน, หุ่นยนต์ ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้งบประมาณ 5-6% ของรายได้เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเพิ่มความปลอดภัยของบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มาตรการ elderly protection zone ในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ โดยบุคลากรจะต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ออกเวร คัดกรองผู้เข้า-ออกอย่างเข้มงวด รวมถึงพื้นที่เข้าเยี่ยม โดยยึดหลัก social distancing ส่วนโรงพยาบาลบางแห่งในเครือ เช่น ธนบุรีบำรุงเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบเนื่องจากเดิมมุ่งรับผู้ป่วยต่างชาติเป็นหลักถึง 90% ของผู้ป่วยทั้งหมดนั้น รับมือด้วยการหันมาเน้นด้านบริการสุขภาพองค์รวม และการป้องกันโรคแทนเพื่อสร้างรายได้ในช่วงนี้