ครึ่งทางปลดล็อกธุรกิจ เติมเงิน 2 แสนล้าน หวั่นระบาดรอบ 2

เอ็มควอเทียร์ หนึ่งในศูนย์การค้าเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป เตรียมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง 17 พ.ค.นี้ ด้วยมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยขั้นสูงสุด (ภาพ : The Mall Thailand)

ครึ่งทางคลายล็อกธุรกิจ “หอการค้า” ชี้ระยะ 2 เติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้าน กระตุ้นธุรกิจ จ้างงาน เตือนระวัง second wave ก่อนคลายล็อกธุรกิจระหว่างประเทศ เดอะมอลล์ลุ้นรายได้ฟื้นกลับมา 50%

กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้ออกมาแถลงถึงความชัดเจนในการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ในระยะที่ 2 เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวใน 3 กลุ่มกิจการประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 กิจกรรมที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ การจำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่มในภัตตาคาร, สวนอาหาร, โรงอาหาร, ขนมหวาน/ไอศกรีมในอาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ (ยกเว้นสวนน้ำ ศูนย์พระเครื่อง โรงหนัง), ร้านค้าปลีก-ค้าส่ง, ร้านเสริมสวย-ย้อมผม-ดัดผม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม. และร้านทำเล็บ

กลุ่มที่ 2 กิจกรรมออกกำลังกาย ได้แก่ คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม, สถานเสริมความงาม, คุมน้ำหนัก, กีฬาประเภทกลางแจ้งที่เล่นเป็นทีม ไม่มีผู้ชม, สวนดอกไม้, สวนพฤกษศาสตร์, พิพิธภัณฑ์, สวนสาธารณะ, สถานประกอบการ นวดแผนไทย (นวดเท้า) และกลุ่มที่ 3 การประชุมสถานที่ภายในลักษณะการบรรยาย, ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา-ถ่ายแบบทำคลิปจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยคาดว่าจะมีผลในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ และถือเป็น “ครึ่งทาง” สำหรับมาตรการปลดล็อกธุรกิจของไทยที่ยังเหลืออีก 2 ระยะเท่านั้น

ยังไม่เปิดธุรกิจระหว่างประเทศ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงการผ่อนคลายประเภทกิจการระยะที่ 2 แต่ทางคณะทำงานฯได้เตรียมแนวทางในการปฏิบัติไว้หมดแล้ว รอเพียงผลสรุปจากที่ประชุม คณะกรรมการ ศบค.ชุดใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ และหากธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ในระยะที่ 2 ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมตามที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินตัวเลขไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จะมีเม็ดเงินประมาณ 200,000 ล้านบาทหมุนเวียนต่อเดือน

“ส่วนการพิจารณาปลดล็อกธุรกิจระหว่างประเทศที่ทางสมาคมโรงแรมไทยได้เสนอขอให้ปลดล็อกและกระตุ้นการท่องเที่ยว 7 ด้านนั้น จะต้องรอหลังจากผ่อนคลายธุรกิจในประเทศให้ครบทุกระยะก่อน รวมถึง ต้องพิจารณาสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิดทั้งในไทยและทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะการกลับมาระบาดคลื่นลูกที่ 2 หรือ second wave ซึ่งเคยมีการคาดการณ์ว่า จะรุนแรงกว่าการระบาดในคลื่นลูกแรกถึง 3 เท่า” นายกลินท์กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายน กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ -2.99% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จึงเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค) นั้น สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียรายได้ไปเดือนละประมาณ 300,000 ล้านบาท และหากรัฐบาลประกาศคลายล็อกระยะที่ 2 ก็จะทำให้มีเม็ดเงินรายได้กลับคืนสู่ภาคธุรกิจประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือเท่ากับยังมียอดการสูญเสียรายได้ลดลงเหลือเพียง 100,000 ล้านบาท มีผลทำให้ GDP ยังคงติดลบ -5 ถึง -3.5% ดังนั้นกำลังซื้อก็อาจจะยังหดตัวลง แต่มีรายได้เริ่มกลับมาจากภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การจ้างงานมีผลช่วยให้อัตราเงินฝืดติดลบลดลง

เดอะมอลล์รายได้หาย 80%

น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ด้วยมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยขั้นสูงสุด ตั้งแต่เข้าไปใช้บริการจนถึงออกจากห้างสรรพสินค้า ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก 34 มาตรการย่อยสำหรับลูกค้า และ 6 มาตรการเสริม 66 มาตรการย่อยสำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจ รวม 100 มาตรการ เพื่อสร้าง TMG Touchless Society หรือสังคมไร้สัมผัส

“บริษัทคาดการณ์ว่าในช่วง 2-3 เดือนแรกของการกลับมาเปิดให้บริการ จำนวนลูกค้าจะลดลงจากช่วงปกติ 30-40% และยังไม่แน่ชัดว่าจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อใด อาจจะเป็นหลังจากการมีวัคซีนก็เป็นได้ และคาดว่าในช่วง 3-4 เดือนแรกหลังจากกลับมาเปิด จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 50% จากช่วงปกติ เนื่องจากห้างเองก็ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้เท่าเดิม ส่วนช่วง 2 เดือนที่ต้องปิดห้างไปยอมรับว่า รายได้หายไปเกือบ 80% ส่วนอีก 20% ที่เหลือมาจากธุรกิจฟู้ดและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ตอนนี้ไม่มีทางที่เดอะมอลล์จะกลับมามีรายได้เท่าปี 2562 แต่จะติดลบเท่าไหร่ ขณะนี้ยังประเมินได้ยาก” นางสาววรลักษณ์กล่าว

ฟื้นไทยเที่ยวไทยก่อน

แหล่งข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงแรก ๆ ของการปลอดล็อกว่า จะเป็นเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า ดังนั้น ททท.จึงเตรียมแผนกระตุ้นและส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มที่ในเดือนกรกฎาคมนี้

สอดคล้องกับนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ในตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้าหรือตลาดอินบาวนด์นั้น ทางสมาคมคาดว่าน่าจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ ตลาดจีนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศได้บ้างในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดวันชาติจีน แต่ ATTA มั่นใจว่าตลาดที่จะเริ่มฟื้นตัวก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ ตลาดคนไทยเที่ยวภายในประเทศ

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้วางขั้นตอนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้ 3 ช่วง ประกอบด้วยช่วงล็อกดาวน์ (lockdown exit) ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ใช้เยียวยา ซ่อมสร้าง และทำการตลาดแบบซอฟต์เซลล์

ช่วงที่ 2 ที่กำลังจะมาถึงคือ ช่วงเลือกเปิด (selective open) หรือเปิดเมืองเปิดประเทศอย่างจำกัดราว 50-60% โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวได้พร้อมใบรับรองแพทย์ และช่วงสุดท้ายคือ ช่วงเปิดกว้าง (extensive open) หรือการฟื้นฟูเต็มที่จนกลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้ตามปกติภายใต้ความปกติใหม่ (new normal) “จากระยะที่ 1 ที่เราอยู่ในตอนนี้ยังยากจะบอกได้ว่า ไทยจะสามารถขยับเข้าสู่ช่วงที่ 2-3 ได้เมื่อไร คาดว่าอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย” นายยุทธศักดิ์กล่าว

กพท.พร้อมเปิดน่านฟ้า

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวถึงการจะเปิดน่านฟ้าให้สายการบินทั่วโลกบินเข้าประเทศไทยได้นั้น จะต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลก่อนว่าจะเริ่มผ่อนคลายให้เมื่อไหร่ จากปัจจุบัน กพท.ออกประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 “เราพร้อมเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ หากรัฐประเมินแล้วว่าพร้อมที่จะเปิดประเทศ”

ส่วนเส้นทางการบินในประเทศ ปัจจุบันมี 4-5 สายการบินที่ให้บริการ ได้แก่ นกแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ในวันที่ 15 พ.ค.นี้จะมี บางกอกแอร์เวย์ส เริ่มบิน 15 พ.ค.นี้ เส้นทางสนามบินสุวรรณภูมิ-สมุย โดย กพท.ได้ออกประกาศเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยานภูมิภาค 28 แห่ง เพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน เฉพาะเวลา 07.00-19.00 น

กลัวคนไม่เดินห้างอีก

ด้านแหล่งข่าวในธุรกิจโทรศัพท์มือถือกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือด้วย เนื่องจากช่องทางการขายส่วนใหญ่เปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทั้งร้านค้าปลีก-ร้านแฟรนไชส์ของผู้ให้บริการ รวมถึงร้านขนาดเล็กหรือตู้ขายมือถือ ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องปรับแผน เช่น ไปเช่าตึกแถวใกล้ห้างสรรพสินค้ารวมถึงเพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์

“พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ยอดขายที่เคยขายผ่านร้านจะหายไปอยู่บนออนไลน์ ขณะที่ค่าเช่าตึกแถวถูกกว่าในห้างจึงอาจมีผู้ประกอบการทบทวนแผนธุรกิจของตนเองใหม่ ไม่อยากกลับไปเปิดในห้าง”