สงครามราคาเบียร์เดือด “สิงห์-ช้าง-ไฮเนเก้น”ท้าชน

ตลาด เบียร์ 1.8 แสนล้าน ฝุ่นตลบ ค่าย “สิงห์-ช้าง” คุมเชิง ชิงไหวชิงพริบ รอจังหวะยื่นราคาขายปลีกแนะนำ รอปรับราคารับภาษีใหม่ คาดดีเดย์ตุลาคมนี้ ด้าน “ไฮเนเก้น” นำร่อง ลดแล้วขวดละ 1-3 บาท ในโมเดิร์นเทรด หวังขยายฐานคนดื่ม ยึดบัลลังก์เบียร์พรีเมี่ยมแบบเบ็ดเสร็จ

ภาษี สรรพสามิตใหม่ มีผลบังคับใช้เป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว โดยกลุ่มเบียร์จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 0.50-2.00 บาท แต่ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งค่ายเบียร์ สิงห์ และเบียร์ช้าง ที่มีมาร์เก็ตแชร์รวมกันเกือบ 90% ในตลาดมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท ต่างยังรอ “ดูเชิง” เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากฐานภาษีที่คิดจากราคาขายปลีกแนะนำ ที่ผู้ประกอบการจะต้องยื่นให้กรมสรรพสามิตพิจารณา แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ไฮเนเก้น” เจ้าตลาดเบียร์พรีเมี่ยม ได้ประกาศลดราคาขายปลีกลงอีกขวดละ 1-3 บาท

“สิงห์-ช้าง” ดีเดย์ปรับราคา ต.ค.

แหล่งข่าวระดับ สูงจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์-ลีโอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ โดยภาพรวมของตลาดเบียร์ยังนิ่ง ๆ และไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงปรับตัว เพราะเพิ่งผ่านช่วงการประกาศอัตราภาษีใหม่ และสินค้าที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสินค้าสต๊อกเดิมที่ร้านค้าปลีก สต๊อกไว้ตั้งแต่ก่อนที่ภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งร้านค้าปลีกโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ยังขายสินค้าในราคาเดิม ไม่ได้ปรับราคาขึ้น ยกเว้นร้านโชห่วยหรือตู้แช่บางส่วนที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาขายปลีกไปอีก 1-2 บาท

“ที่ผ่านมา ร้านค้าต่าง ๆ มีการกักตุนสินค้าไว้ แต่ก็จะไม่ถึงขนาดกับว่าจะทำให้เบียร์ขาดตลาด เพราะปัจจุบันโรงงานของทุกค่ายมีศักยภาพการผลิตสูง ส่วนเรื่องราคาที่มีร้านค้าปลีกหลาย ๆ รายได้ทยอยปรับขึ้นราคาไปบ้าง แต่เมื่อช่องทางหลัก ๆ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่ยังขายราคาเดิม ร้านปลีกอื่น ๆ ก็จะต้องปรับตัวตาม และจะฉวยโอกาสได้เฉพาะในช่วงแรก ๆ เท่านั้น”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการ ทั้งสิงห์ และคู่แข่ง ตอนนี้ต่างก็อยู่ระหว่างการปรับตัว และล่าสุดบริษัทยังไม่ได้ยื่นราคาขายปลีกแนะนำไปให้กรมสรรพสามิตพิจารณา เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพราะราคาขายปลีกแนะนำที่ยื่นไปจะมีผลกับราคาขายปลีก หากราคาต่างกันเพียง 10-20 สตางค์ ก็จะมีผลต่อยอดขายและตลาดมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและจะทยอยปรับราคาให้สอดรับกับภาษีใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้าง กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้แจ้งราคาขายปลีกแนะนำทั้งของเบียร์ช้างและเหล้าต่าง ๆ ไปให้กรมสรรพสามิตพิจารณา เนื่องจากบริษัทมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก และคาดว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป หากกรมสรรพสามิตเห็นชอบราคาค้าปลีกแนะนำที่ยื่นไป บริษัทก็จะทยอยแจ้งราคาใหม่ได้

ไฮเนเก้นลดราคาแล้ว 1-3 บาท

นาย ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้นระบุว่า ภายในอาทิตย์นี้ (25-29 กันยายน) บริษัทจะปรับราคาเบียร์ไฮเนเก้นขวดใหญ่ 630 มล. ลงขวดละ 1-3 บาท ในช่องทางร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ทำให้สินค้ารายการดังกล่าวมีภาระภาษีต่ำลง ส่วนราคาขายปลีกช่องทางอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในลำดับต่อไป ส่วนแบรนด์อื่น ๆ เช่น ไทเกอร์ และเชียร์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกในขณะนี้

“การปรับราคาลง เล็กน้อยไม่น่าจะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะแอลกอฮอล์ยังคงเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น และฟุ่มเฟือยอยู่” นายปริญกล่าว


แหล่ง ข่าวระดับสูงในวงการเหล้า-เบียร์ แสดงความเห็นว่า การที่ไฮเนเก้นปรับลดราคาลงในช่องทางโมเดิร์นเทรด จะมีผลต่อการขยายฐานลูกค้าและการเพิ่มยอดขายและมาร์เก็ตแชร์ในช่องทางนี้มาก ขึ้น ซึ่งเดิมราคาไฮเนเก้นจะอยู่ที่ประมาณ 71 บาท หากปรับลดลง 1-3 บาท ก็จะอยู่ที่ราว 67-70 บาท ในขณะที่เบียร์อื่น ๆ ในตลาดพรีเมี่ยม เช่น คาร์ลสเบิร์ก 83 บาท ซานมิเกล 68 บาท อาซาฮี 73 บาท คิริน 75 บาท เฟดเดอร์บรอย 63 บาท