‘บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา’ : ธุรกิจชะลอลงทุนในจีน โอกาสของไทย

สัมภาษณ์

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่คาดว่าจะลากยาวไปถึงปลายปี หรือมากกว่านั้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ที่มีบริษัทในความดูแลและขับเคลื่อนมากกว่า 300 แห่ง ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่น-รองเท้า นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโลจิสติกส์ ฯลฯ ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น และทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป

Q : มุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงสุดเท่าที่เคยผ่านมาหลายเหตุการณ์ และสร้างความเสียหายกว่า 10 เท่า ที่สำคัญ คือ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยจะแตกต่างจากยุคต้มยำกุ้งที่เกิดวิกฤตการเงิน และส่งผลกระทบเฉพาะบริษัทและองค์กรใหญ่เท่านั้น ซึ่งในยุคนั้นหลาย ๆ คนเกิดความกังวลและได้รับผลกระทบ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้

ขณะเดียวกันแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่เราควรจะมองในมุมของโอกาสมากกว่า และต้องมาประเมินความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้มีตัวแปรให้เลือกหลายทาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุน

ที่ผ่านมาทุกประเทศจะมองสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์รวมการค้าขายหลัก ส่วนยุโรปเป็นแหล่งวัฒนธรรม แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากกว่าไทย มองว่าหลังโควิด-19 คลี่คลาย การส่งออกของประเทศแถบเอเชียจะขึ้นมาเทียบเท่ากับยุโรป

อีกทั้งในอดีตนักลงทุนต่างประเทศจะมองไทยเป็นประเทศที่ล้าสมัย แต่ในทางกลับกันระบบสาธารณสุขในไทยกลับแก้ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องปรับตัวเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมส่งออกให้แข็งแกร่งขึ้น ยุคนี้ถ้าใครสายป่านยาวย่อมได้เปรียบ และสิ่งสำคัญ ถ้าทำถูกต้องจะเป็นโอกาส ทำผิดจะเสียโอกาส เชื่อว่าถ้าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะสามารถสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้

Q : ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน

ภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ถ้าหากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35-36 ต่อเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวภายใน 1 ปี แต่หากค่าเงินบาทยังเท่ากับปัจจุบัน (ประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ก็อาจจะใช้เวลาฟื้นฟูไปนานกว่า 3 ปี และนักลงทุนมองว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง สิ่งที่จะสร้างมูลค่าได้จะไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ แต่จะเป็นทองคำ

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุน แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน นักลงทุนหลายบริษัทเริ่มชะลอการลงทุนในจีน จึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจ และเพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า จากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จะทำให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น แต่ประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย ทั้งการเว้นระยะห่าง และใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

Q : จะมีข้อเสนอแนะรัฐบาลอย่างไรบ้าง

หลังโควิด-19 ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นอย่างที่คิด เพราะมีตัวแปรหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และหลังจากนี้ไป ความขัดแย้งของมหาอำนาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โลกมีโอกาสเกิดสงความ แต่ละประเทศต้องเตรียมพร้อมรับมือ ที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง จากนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนการนำบิ๊กดาต้าเข้ามาปรับใช้ในการแจกเงินเยียวยาประชาชนคนละ 5,000 บาท ให้สามารถถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ นำเงินลงไปเยียวยากลุ่มรากหญ้าให้เร็วที่สุด ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพด้านไอที และระบบการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้แข็งแกร่งมากขึ้น และตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจน
จีดีพี (GDP) ก็คือ นโยบายของรัฐบาล

Q : เครือสหพัฒน์ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และสเต็ปต่อไปจะปรับตัวไปในทิศทางไหน

จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบยอดขายบริษัทในเครือสหพัฒน์ ตัวเลขติดลบมากสุด เมื่อเทียบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งที่ผ่าน ๆ มา โดยไตรมาส 1 มียอดขายลดลง 10 % และมีกำไรลดลง 20%

แต่ถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเรามีธุรกิจอาหาร และสินค้าอุปโภค ที่ได้อานิสงส์จากพฤติกรรม
ผู้บริโภคที่จับจ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ส่วนธุรกิจเสื้อผ้า
ไลฟ์สไตล์ได้รับผลกระทบจากการปิดดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ตามมาตรการของภาครัฐ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใช่โอกาสของธุรกิจแฟชั่น ทำให้ต้องปรับลดไลน์ผลิตลง และต่อจากนี้ไป บริษัทจะไม่ตั้งเป้าการเติบโต โดยจะให้ความสำคัญกับการประคับประคองและพยุงสถานการณ์ไม่ให้ขาดทุนเท่านั้น

ส่วนนโยบายการพัฒนาสินค้าซึ่งเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ บริษัทจะยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไปไม่หยุด โดยเฉพาะการเติมช่องว่างให้มีสินค้าที่คนทุกเจเนอเรชั่นต้องการ เพื่อเป็นตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก และขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง บริษัทจะเร่งและเพิ่มน้ำหนักกับช่องทางขายออนไลน์มากขึ้น ด้วยการจัดตั้งทีมงานรุ่นใหม่ ๆ และจัดอบรมเรื่องมาร์เก็ตติ้งและ IO (information operation) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาจจะยังคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตในส่วนนี้ไม่ได้ เนื่องจากสัดส่วนยังน้อย ล่าสุดเครือสหพัฒน์ได้เตรียมจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 24 จะเป็นการจัดงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งเดิมที่กำหนดจัดวันที่ 2-5 กรกฎาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา แต่พอมีไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น บริษัทจึงตัดสินใจเลื่อนการจัดงานออกไป

สำหรับการจัดงานรอบใหม่นี้จะเป็นการจัดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพ และจะมีการกำหนดการจัดงานอีกครั้งหนึ่ง

Q : นโยบายการลงทุนของเครือสหพัฒน์จากนี้ไป

สำหรับการปรับตัวด้านการลงทุน เครือสหพัฒน์เริ่มมาตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง เมื่อช่วงปี 2540 โดยบริษัทใช้เวลากอบกู้วิกฤต 2-3 ปี ได้พยายามบอกพนักงานในเครือ อย่าไปพึ่งพาเงินกู้มาค้าขาย ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด สภาพคล่องการเงินต้องดี ถ้ามีทุนมากทำมาก มีทุนน้อยทำน้อย เพราะที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาด้านตัวเลขการลงทุน จะขึ้นอยู่ที่โอกาสและการตัดสินใจ

แต่ปีนี้การลงทุนใหญ่ ๆ  ต้องชะลอไว้ก่อน และยังไม่มีเซ็นสัญญากับพันธมิตรต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนต้องการรอดูปัจจัยทางเศรษฐกิจและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมองไปถึงการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยจะเน้นกลุ่มธุรกิจอาหารที่คาดว่าจะเติบโตในภาคการส่งออกในอนาคต

Q : อะไรคือนิวนอร์มอลของสหพัฒน์

ที่ผ่านมาหลาย ๆ องค์กรพยายามสปีดตัวเองให้เป็นองค์กรใหญ่ แต่ปัจจุบันองค์กรเล็กมีความได้เปรียบ เนื่องจากคล่องตัวกว่า ดังนั้น ต่อไปจะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปอย่างเหมาะสม ไม่หวือหวาแต่ต้องยั่งยืน

ตั้งแต่บริหารงานมากว่า 80 ปี เจอวิกฤตทุก ๆ ปี แต่ปีนี้เหนื่อยกว่าเดิม เพราะการแข่งขันเหมือนวิ่งมาราธอน ไม่ต้องวิ่งเร็วกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ช้ากว่าคนอื่นเช่นกัน