“อเมซิ่งฟีลด์” ลุ้นดีมานด์ “วิ่ง” พุ่ง คุมเข้มไวรัสรับมือนิวนอร์มอล

ท้าทาย - ความเชื่อมั่นจะกลายเป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจจัดงานวิ่ง ซึ่งต้องหามาตรการต่าง ๆ เช่น การวัดไข้ การควบคุมจำนวนคนที่จุดสตาร์ต ฯลฯ มารับมือ

“อเมซิ่ง ฟีลด์” เดินหน้าพัฒนากลยุทธ์สร้างความปลอดภัย-เชื่อมั่น รับนิวนอร์มอล ลุ้นดีมานด์งานวิ่งดีดกลับหลังจบโควิด-19 งัดสารพัดวิธีรับมือช่วงระบาดจัด “เวอร์ชวลรัน” พร้อมอัพเกรดเว็บไซต์-โซเชียล อนุญาตให้พนักงานรับจ็อบเสริม ฯลฯ เผยมีงานวิ่งใหญ่ 3 งาน รอในช่วงปลายปี มั่นใจปรับตัวพาธุรกิจฝ่าโควิด-19 ได้แน่

นางมัลลิกา ผลอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อเมซิ่ง ฟีลด์ จำกัด ออร์แกไนเซอร์จัดงานวิ่งรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดทั้งความท้าทายและโอกาสในธุรกิจจัดงานวิ่ง โดยเชื่อว่าหลังการระบาดจบลง ดีมานด์การเข้าร่วมงานวิ่งพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และมีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาเริ่มออกกำลังกายมากขึ้นในขณะนี้ สะท้อนจากภาพผู้คนที่ออกมาวิ่งในสถานที่ต่าง ๆ เช่น หมู่บ้าน สวนหย่อม ฯลฯ อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการช่วยหนุนให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่ ส่วนผู้ที่วิ่งประจำอยู่แล้วต้องการกลับมาวิ่งอีกครั้ง

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดความท้าทาย ในแง่ของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งที่มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันอย่างใกล้ชิด เช่น ช่วงปล่อยตัวจากจุดสตาร์ต แม้จะเป็นช่วงที่รัฐบาลปลดล็อกให้สามารถจัดงานวิ่งได้แล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้จัดงานวิ่งต่าง ๆ จะต้องหามาตรการมารองรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักวิ่งที่ต้องการจะเข้าร่วมกิจกรรม และหลังจากนี้ผู้จัดงานวิ่งจะมีนิวนอร์มอลออกมาเช่นเดียวกับวงการอื่น ๆ เช่น มาตรการวัดไข้ การควบคุมระยะห่าง การควบคุมจำนวนคน รูปแบบของที่ระลึกแจกในงาน ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้จัดงานวิ่งหรือออร์แกไนเซอร์ยังจะต้องเตรียมรับมือกับการปรับตารางงานวิ่งหลาย ๆ งาน ที่ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีหลายงานมีการยกเลิกหรือเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี รวมถึงการจัดงานวิ่งแบบเวอร์ชวลรัน (virtual run) ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถวิ่งที่ไหนก็ได้ เพียงบันทึกการวิ่ง และส่งให้ทางผู้จัดเพื่อรับเหรียญ-รางวัลต่าง ๆ แม้จะตอบโจทย์การวิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดได้ และมีต้นทุนการจัดต่ำกว่างานปกติ แต่ไม่สามารถทดแทนงานวิ่งได้ 100% เนื่องจากอาจไม่ตอบโจทย์ของสปอนเซอร์ที่ต้องการให้นักวิ่งได้สัมผัสสินค้า-บริการ เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องการวิ่งในสถานที่จริงมากกว่า ซึ่งผู้จัดต้องบริหารจัดการเพื่อพยุงธุรกิจให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

นางมัลลิกากล่าวต่อไปว่า สำหรับอเมซิ่ง ฟีลด์ ขณะนี้ได้มีการปรับรูปแบบงานวิ่งที่มีอยู่ในมือ โดยมีการประสานงานกับสปอนเซอร์ของงานอย่างใกล้ชิด หลังตัดสินใจยกเลิกการจัดงานที่จะมีขึ้นในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ 4 งาน ส่วนอีก 1 งานปรับเป็นเวอร์ชวลรัน เช่น “งานวิ่ง พ้น ภัย” เน้นการแจ้งข่าวให้กับผู้เข้าร่วมรับรู้เร็วที่สุด รวมถึงเร่งการผลิต และจัดส่งเหรียญให้กับผู้ร่วมกิจกรรม โดยหลังปิดงานไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,300 คน ต่ำกว่าเป้า 2,000 คนที่วางไว้

นอกจากการปรับการบริหารงานภายในองค์กรเพื่อประคับประคองธุรกิจให้สามารถผ่านช่วงการระบาดไปได้แล้ว ขณะเดียวกันก็เตรียมการการจัดงานสำหรับงานช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม เช่น สงขลาอินเตอร์เนชั่นแนลมาราธอน, แม่น้ำแควอินเตอร์เนชั่นแนลฮาล์ฟมาราธอน และหนองคายอาเซียนมาราธอน โดยอยู่ระหว่างศึกษา-พัฒนา มาตรการความปลอดภัย และสร้างความ

เชื่อมั่นให้กับผู้ที่เข้าร่วมงาน เช่น การวัดไข้ในวันรับอุปกรณ์ และวันวิ่งจริง โดยหากอุณหภูมิเกินกำหนดอาจให้รับอุปกรณ์ และเหรียญ แต่ไม่ให้เบอร์ และไม่ให้ร่วมวิ่ง เป็นต้น เช่นเดียวกับการปล่อยตัวจากจุดสตาร์ตที่อาจทยอยปล่อยเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อลดความแออัด นอกจากนี้ของแจกในงานจะเพิ่มเจลแอลกอฮอลล์ เช่นเดียวกับแผนประชาสัมพันธ์ที่จะเน้นชูเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

“ช่วงนี้เราก็ถือโอกาสในการอัพเกรดธุรกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ทันสมัยใช้งานง่าย และทำคอนเทนต์เผยแพร่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น ตำแหน่ง-ระยะทาง-เวลาเปิดปิดสวนสาธารณะใน กทม. เพื่อสร้างการรับรู้ เช่นเดียวกับงานบุคคลที่ให้พนักงานของบริษัทเวิร์กฟรอมโฮมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และอนุญาตให้ทำงานเสริมต่าง ๆ ได้ มั่นใจว่าการปรับตัวและแผนที่เตรียมไว้สำหรับงานต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ในพอร์ตจะช่วยให้ฝ่ามรสุมโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้” นางมัลลิกากล่าว